Macro Making Sense

INVX Macro Making Sense – 4 มิ.ย. 2567 สรุปประเด็นเงินเฟ้อ Core PCE ของสหรัฐทรงตัว เงินเฟ้อยูโรโซนเพิ่มขึ้นเกินคาด มุมมองเศรษฐกิจไทยจากผลกระทบปัจจัยการเมือง

4 Jun 24 9:00 AM
Macro Making Sense 2

 

สรุปประเด็นเงินเฟ้อ Core PCE ของสหรัฐทรงตัว เงินเฟ้อยูโรโซนเพิ่มขึ้นเกินคาด มุมมองเศรษฐกิจไทยจากผลกระทบปัจจัยการเมือง

เงินเฟ้อ Core PCE ของสหรัฐทรงตัว ขณะที่การใช้จ่ายของครัวเรือนหดตัวเกินคาด
  • - อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core PCE) สหรัฐขยายตัวชะลอลงในเดือน เม.ย. ขณะที่ผู้บริโภคลดการใช้จ่ายลง โดยเงินเฟ้อ Core PCE เพิ่มขึ้น 0.2% จากเดือนก่อน ชะลอลงจาก 0.3% ต่อเดือน ในเดือน ก.พ. และ มี.ค. และ 0.5% ในเดือน ม.ค. ด้านการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ปรับตามอัตราเงินเฟ้อหดตัว -0.1% จากเดือนก่อน (ขณะที่ไม่หักเงินเฟ้อขยายตัว 0.2% จาก 0.7% เดือนก่อน) ผลจากการใช้จ่ายด้านสินค้าและบริการ รวมถึงการขยายตัวของค่าจ้างลดลง
  • - เรามองว่า ทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐเริ่มชะลอตัวลงมากขึ้น โดยแม้ว่าเงินเฟ้อที่เทียบกับปีก่อนจะทรงตัว แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนเริ่มชะลอตัว ท่ามกลางการใช้จ่ายที่เริ่มชะลอลง จากหนี้สินที่อยู่ระดับสูง นอกจากนั้น แม้รายได้ของครัวเรือน(ที่ไม่หักเงินเฟ้อ) หรือ Personal Income ยังคงขยายตัวที่ 0.3% ต่อเดือน แต่รายได้สุทธิสำหรับการใช้จ่าย (Disposable income) เริ่มหดตัวลง -0.1% ในเดือน เม.ย. บ่งชี้ว่าการจับจ่ายในระยะถัดไปมีความเสี่ยงท่ามกลาง (1) เงินออมส่วนเกินที่หมดลง (2) อัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตที่สูงเป็นประวัติการณ์ และ (3) อัตราการผิดนัดชำระหนี้ที่พุ่งสูงเกินระดับก่อนเกิด Covid แล้ว ทำให้เรายังคงมุมมองว่า Fed จะลดดอกเบี้ยเดือน พ.ย. และ ธ.ค. นี้
  •  
  •  
เงินเฟ้อยูโรโซนเพิ่มขึ้นเกินคาดก่อนที่ ECB จะลดดอกเบี้ย
  • - อัตราเงินเฟ้อผู้บริโภคทั่วไปของยูโรโซนเพิ่มขึ้น 2.6% ต่อปีในเดือน พ.ค. จาก 2.4% ในเดือน เม.ย. มากกว่าตลาดคาดที่ 2.5%
  • - เรามองว่า (1) เงินเฟ้อของยุโรปจะยังคงลดลง แต่ยากมากขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวขึ้นทำให้เงินเฟ้อจากภาคอุปสงค์ (Demand-pull inflation) จะมีส่วนดึงไม่ให้เงินเฟ้อลดลงได้รวดเร็ว (2) เรายังเชื่อว่า ECB จะลดดอกเบี้ยลงได้ 3 ครั้งในปีนี้ (3) การที่ ECB ลดดอกเบี้ยได้เร็วกว่า Fed ของสหรัฐ ทำให้ค่าเงินยูโรมีสิทธิอ่อนค่าต่อเนื่องเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์
  •  
มุมมองเศรษฐกิจไทยจากผลกระทบปัจจัยการเมือง
  • - เราได้ตั้งสมมุติฐานด้านการเมืองไทยและภูมิรัฐศาสตร์โลก 5 ประการ ดังนี้ (1) มีโอกาส 80% ที่รัฐบาลของนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน จะได้บริหารราชการต่อไป (2) เราเชื่อว่า ในคดีทางการเมืองอื่น ๆ ไม่น่าจะมีผลกระทบต่อการบริหารราชการของรัฐบาลชุดปัจจุบันอย่างมีนัยสำคัญ (3) เราเชื่อว่า ผลโพลสำรวจความนิยมพรรคการเมือง ของสถาบันพระปกเกล้า ที่พบว่า คะแนนนิยมพรรคก้าวไกลเพิ่มขึ้น 37% จะทำให้รัฐบาลจะหันมามุ่งเน้นการบริหารเศรษฐกิจมากขึ้น (4) เราเชื่อว่า กระบวนการจัดตั้งวุฒิสภาฯ ชุดใหม่จะเป็นไปตามกำหนดการเดิม และ (5) เราเชื่อว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ จะเป็นการขับเคี่ยวอย่างเข้มข้นของ 2 อดีตประธานาธิบดี
  • - ด้วยสมมุติฐานทั้ง 5 ทำให้เราได้ทำการวิเคราะห์เศรษฐกิจไทยในสถานการณ์ต่าง ๆ (Scenario analysis) ดังนี้ (1) ในสถานการณ์ฐาน (Base case) ที่ศาลฯ ตัดสินเป็นคุณกับนายกฯ เศรษฐา เศรษฐกิจจะขยายตัวที่ 2.5% ในปี 2024 และ 3.0% ในปี 2025 ตามลำดับ (2) ในสถานการณ์เลวร้าย (Worse case) ที่หากศาลฯ ตัดสินไม่เป็นคุณกับนายกฯ เศรษฐา แต่ยังได้นายกฯ ที่มาจากพรรคเพื่อไทย เศรษฐกิจจะขยายตัวที่ 2.3% ในปี 2024 และ 2.7% ในปี 2025 ตามลำดับ และ (3) ในสถานการณ์เลวร้ายที่สุด (Worst case) ที่หากศาลฯ ตัดสินไม่เป็นคุณกับนายกฯ เศรษฐา และไม่สามารถสรรหานายกฯ ภายในไตรมาส 3 เราคาดการณ์เศรษฐกิจจะขยายตัวที่ 2.0% ในปี 2024 และ 2.5% ในปี 2025 ตามลำดับ
 
ท่าน สามารถอ่านและดาวน์โหลดเอกสารได้จาก Macro making sense 240604_T

 

Most Read
1/5
Related Articles
Most Read
1/5