Macro Making Sense 3
PDF Available  
Macro Making Sense

Macro Making Sense – 11 พ.ย. 2567

By ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์|11 Nov 24 8:06 AM
สรุปสาระสำคัญ

บทสรุปแนวโน้มเศรษฐกิจและการลงทุนโลกในยุค ทรัมป์ 2.0 ฟิทช์ เรทติ้งส์ คงอันดับเครดิต Timeline คดีการเมืองไทย

  • แนวโน้มเศรษฐกิจและการลงทุนโลกในยุค ทรัมป์ 2.0 โดยเรามองว่า นโยบายสำคัญของทรัมป์ (สงครามการค้า, ลดภาษี) น่าจะเริ่มในปี 2026 โดย IMF คาดว่า การกีดกันทางเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มขึ้น จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐมากกว่าที่อื่น ขณะที่คาดเงินเฟ้อสหรัฐจะเพิ่มขึ้นเพียง 0.2% จากกรณีฐานในปี 2026 ภาพดังกล่าว ทำให้ไม่น่ากระทบแผนลดดอกเบี้ยของ Fed มากนัก (หรือเป็นการลดต่อเนื่อง ทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐระยะยาวไม่น่าจะปรับตัวได้สูงขึ้นกว่านี้อีกมากนัก ขณะที่ผลตอบแทนระยะสั้นจะลดลงตามดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งจะทำให้เส้นผลตอบแทนชันขึ้น และ เรามองว่าเงินบาทน่าจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปัจจุบัน โดยเฉลี่ยที่ 35.6 บาทต่อดอลลาร์ในปีหน้า ใกล้เคียงปีนี้ที่ 35.1 บาทต่อดอลลาร์

  • ด้านจีนทุ่ม 10 ล้านล้านหยวน โดยแผนดังกล่าวจะเพิ่มเพดานหนี้รัฐบาลท้องถิ่นขึ้นเป็น 35.52 ล้านล้านหยวน และจะสามารถเข้าถึงได้ในระยะได้ต่อไป โดยมีแผนระดมทุนผ่านการออกพันธบัตรชนิดพิเศษ ซึ่งเรามองว่า แม้มาตรการนี้จะแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลจีนในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ แต่อาจต้องติดตามประสิทธิผลของการดำเนินการอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะความสามารถในการกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนในระยะยาว รวมถึงพัฒนาการของความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ซึ่งอาจส่งผลต่อภาคการส่งออกในอนาคต

  • ฟิทช์ เรทติ้งส์ คงอันดับเครดิตน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Sovereign Credit Rating) ที่ BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Outlook) ณ ระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตอย่างต่อเนื่องโตจาก 2.6% เป็น 3.1% ในปี 2567 และ 2568 ตามลำดับ ภาคการคลังยังคงมีเสถียรภาพ แม้รัฐบาลจะยังคงดำเนินนโยบายขาดดุล โดยปี 2568 จะขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นเป็น 4.5% GDP ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของ Peers ที่ 3.2% แต่รัฐบาลมีความพยายามปรับลดการขาดดุลงบประมาณเพื่อเข้าสู่สมดุลทางการคลัง (Fiscal Consolidation)

  • เรามองว่าความเสี่ยงที่ตราสารหนี้รัฐบาลไทยจะถูกปรับลดอันดับเครดิตค่อนข้างต่ำ เนื่องจากสถานะความเสี่ยงด้านการคลัง (โดยเฉพาะการจัดทำงบประมาณ) การเมือง (รัฐบาลดูมีเสถียรภาพขึ้น) และเศรษฐกิจ (นโยบายการเงินการคลังเริ่มผ่อนคลาย) ดีขึ้น แต่ความเสี่ยงของตราสารหนี้ไทย คือความเสี่ยงเชิงระบบและความเสี่ยงเชิงสถาบันมากกว่า

  • Timeline คดีการเมืองไทย: ปัจจุบัน คดีที่มีนัยยะต่อเสถียรภาพการเมืองมี 2 คดี คือ (1) คดีล้มล้างการปกครอง (มาตรา 49) โดยนายธีรยุทธ สุวรรณเกสร ทนายความอิสระ ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้วินิจฉัยการกระทำของนายทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย ว่าเข้าข่ายล้มล้างการปกครองหรือไม่ โดยศาลน่าจะประกาศผลการรับ/ไม่รับคำร้องภายใน 13 พ.ย. 2567 และ (2) คดียุบพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลเดิม โดยผู้ร้องอ้างถึงพฤติการณ์ของ นายทักษิณ ทั้ง การที่แกนนำ 6 พรรคร่วมรัฐบาลเดิม ไปร่วมประชุมกับ นายทักษิณ ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า รวมถึงคำสัมภาษณ์ที่ว่า “ไม่ได้ครอบงำ แต่ครอบครอง” นายกรัฐนตรีแพทองธารฯ ในฐานะลูกสาว

  • เรามองว่า ในคดีแรก ข้อกล่าวหาที่ว่ารัฐบาลบ่อนทำลายสถาบันเป็นการขยายความที่อาจเกินขอบเขต แต่เป็นรูปแบบเดียวกับคดียุบพรรคก้าวไกล จึงไม่อาจปิดโอกาสที่ศาลจะรับคำร้อง รวมถึงพิจารณามีคำสั่งยุติการกระทำ (เช่นเดียวกับพรรคก้าวไกล) ส่วนในคดีที่สอง : เรามองว่า (1) คดีนี้ มีความเป็นไปได้มากกว่าคดีล้มล้างการปกครอง เนื่องจากหลักฐานเห็นได้ชัดกว่า และไม่เป็นการขยายความเกินขอบเขต (2) การที่คดีนี้กระทบพรรคร่วมรัฐบาลอื่น ๆ ด้วย อาจเป็นไปได้ว่า พรรคอื่น ๆ จะขอให้กันออกมาเป็นพยานในคดีนี้ และให้การซักทอดผู้ถูกร้อง ทำให้เป็นไปได้ที่ศาลจะสั่งยุบพรรคเพื่อไทยเพียงพรรคเดียว และ (3) เนื่องจากการพิจารณาคดีทั้งสอง จะกินเวลาถึงช่วงเดือน เม.ย. เป็นอย่างน้อย ดังนั้น จากนี้จนถึงระยะเวลาดังกล่าว เป็นช่วงที่รัฐบาลต้องเร่งทำผลงานด้านเศรษฐกิจ เพื่อให้ได้รับคะแนนเสียงของประชาชนมากขึ้น
Author
Slide3
ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์

หัวหน้านักวิจัยเศรษฐกิจ

Most Read
1/5
Related Articles
Most Read
1/5