IEA และ OPEC ลดคาดการณ์อุปสงค์น้ำมันอีกครั้ง เผชิญอุปทานล้นเกินในปี 2025
IEA ลดคาดการณ์การเติบโตอุปสงค์น้ำมันโลกปีนี้ลงสู่ +860kBD กดดันจากอุปสงค์ในจีนที่ชะลอลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่สี่ในเดือนส.ค. และทำให้จีนมีส่วนขับเคลื่อนการขยายตัวอุปสงค์โลกในปีนี้และปีถัดไปเพียง 20% เทียบกับปีก่อนที่เป็นผู้ขับเคลื่อนหลักถึง 70% และคาดอุปสงค์น้ำมันในปี 2025 จะขยายตัวในระดับต่ำที่ +1.0MBD สอดคล้องกับ OPEC ที่ลดคาดการณ์อุปสงค์โลกเป็นครั้งที่สามในปีนี้และปีหน้าเหลือ +1.9MBD และ +1.6MBD ตามลำดับ ด้านอุปทาน ในกรณีไม่มีเหตุทำให้อุปทานชะงักเพิ่มเติม IEA มองตลาดน้ำมันจะเผชิญภาวะอุปทานล้นเกินปริมาณมากในปี 2025
มองตลาดน้ำมันมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเกินดุลสูงขึ้นตั้งแต่ 4Q24 เป็นต้นไป และจะเกินดุลมากขึ้นในปี 2025 (Figure 4) จากอุปสงค์โลกที่ขยายตัวในระดับต่ำต่อเนื่องขณะที่อุปทานมีแนวโน้มขยายตัวต่อจากฝั่ง non-OPEC+ และการทยอยเพิ่มกำลังการผลิตของ OPEC+ ตามแผนตั้งแต่เดือนธ.ค. 2024 เป็นต้นไป
กองทุนน้ำมันฯ ชำระหนี้ก้อนแรกในเดือนพ.ย. ประเมินสถานะชำระได้อย่างน้อย 1 ปี
กองทุนน้ำมันฯ มียอดกู้ยืมทั้งหมด 1.05 แสนลบ. และเตรียมชำระคืนเงินต้นงวดแรก 140 ลบ. ในเดือนพ.ย. นี้ และการชำระคืนเงินต้นในงวดถัดไปจะสูงขึ้น โดยงวดที่สูงที่สุดอยู่ที่ราว 3 พันลบ. ในเดือนต.ค. 2025 และมีกำหนดชำระเงินต้นถึงปี 2028 นอกจากนี้จะต้องชำระดอกเบี้ยราว 250 ลบ. ต่อเดือน (Figure 5) ขณะที่สถานะกองทุนน้ำมันฯ ล่าสุดขาดดุลลดลงสู่ -9.53 หมื่นลบ. โดยส่วนบัญชีน้ำมันขาดดุล -4.79 หมื่นลบ. และในเดือนก.ย. สามารถเก็บเงินได้ 7.76 พันลบ.
กรณีกองทุนน้ำมันฯ ไม่มีภาระชดเชยราคาดีเซลในระยะต่อไป ประเมินสถานะกองทุนน้ำมันฯ โดยรวมจะเผชิญแรงกดดันลดลงและสามารถชำระคืนเงินต้นตามกำหนดได้ พิจารณาจากความสามารถการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ในระดับปัจจุบันที่ 6.23 พันลบ. ต่อเดือน (ค่าเฉลี่ยช่วงเดือนส.ค.-ก.ย. 2024) ประเมินว่าการเก็บเงินอย่างน้อยราว 1.7 พันลบ. ต่อเดือนเพียงพอต่อการชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยในช่วงเดือนพ.ย. 2024 - ต.ค. 2025 ได้ มองเป็นบวกต่อกลุ่มค้าปลีกน้ำมันจากกองทุนน้ำมันฯ ที่มีเสถียรภาพมากขึ้น
ความเสี่ยง: เศรษฐกิจโลกชะลอตัว, การเลือกตั้งสหรัฐฯ, การเมืองในประเทศ, นโยบายพลังงานของรัฐบาล, สถานการณ์ตะวันออกกลางและรัสเซีย-ยูเครน, นโยบายคุมการผลิตของ OPEC+, ภูมิอากาศที่ผันผวน