wealthmanagement

ประโยชน์ของการกระจายการลงทุน ที่นักลงทุนควรรู้ | InnovestX

19 Apr 23 5:00 AM
Portfolio
สรุปสาระสำคัญ

“Don’t put all eggs in one basket” อย่าเอาไข่ทั้งหมดใส่ไว้ในตะกร้าใบเดียว ควรที่จะมีการกระจายความเสี่ยงการลงทุนไปในหลาย ๆ สินทรัพย์ 

ไม่มีสินทรัพย์ใดที่ให้ผลตอบแทนเป็นบวกได้ตลอดทุกช่วงเวลา สินทรัพย์ใดที่มีความเสี่ยงสูง ย่อมให้ผลตอบแทนสูงแต่ก็มีโอกาสที่จะได้ผลตอบแทนที่ต่ำมาก เพราะความผันผวนนั่นเอง การกระจายความเสี่ยงการลงทุน (Asset Allocation) จึงเป็นเรื่องที่สำคัญต่อทุกคน และเป็นวิธีการจัดการพอร์ตการลงทุนให้พร้อมรับกับความผันผวน ในทุกสภาวะของตลาด ลดความเสี่ยงให้กับพอร์ตการลงทุน และสร้างผลตอบแทนในระยะยาว

 

 

การกระจายการลงทุน คืออะไร สำคัญอย่างไรต่อการลงทุน? 

ชวนมาเข้าใจความสำคัญของการกระจายความเสี่ยงการลงทุน (Asset Allocation) 

 

 

หัวใจของการกระจายความเสี่ยงการลงทุน (Asset Allocation) หรือการจัดสรรสินทรัพย์ คืออะไร? ทำไมต้องทำด้วย?... ก็เพราะ นักลงทุนอย่างเรา ๆ รู้ดีว่า สินทรัพย์แต่ละประเภทสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีได้แตกต่างกันไปในแต่ละสถานการณ์และช่วงเวลา

 

ปัจจุบันการลงทุนมีอยู่หลายรูปแบบด้วยกัน ซึ่งหลายคนคงเคยผ่านการลงทุนมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็น ฝากเงินกับธนาคาร หรือลงทุนผ่านหุ้น กองทุน หรือตราสารหนี้ โดยจะลงทุนตามสัดส่วนที่ต้องการ หรือลงทุนเฉพาะสินทรัพย์ที่ตนเองชื่นชอบ แต่เชื่อว่าคงมีคนจำนวนไม่น้อย ที่มีคำถามในใจว่า การลงทุนในแบบที่เลือกนั้น สามารถสร้างผลตอบแทนอย่างที่เราต้องการได้แล้วจริงหรือ อีกทั้งเราไม่อาจทราบได้ว่าสินทรัพย์ที่เราลงทุน จะให้ผลตอบแทนได้ดีตลอดทุกช่วงเวลาหรือไม่ และสัดส่วนการลงทุนนี้เหมาะสมกับความเสี่ยงที่เรายอมรับได้หรือเปล่า ซึ่งการทำความเข้าใจเกี่ยวกับ “การกระจายความเสี่ยงการลงทุน หรือ Asset Allocation” จะช่วยตอบคำถามทั้งหลายเหล่านั้นให้กับนักลงทุนได้

 

การกระจายการลงทุน (Asset Allocation) คืออะไร ควรกระจายความเสี่ยงการลงทุนอย่างไร?

 

การกระจายการลงทุน (Asset Allocation) หรือการจัดสรรสินทรัพย์ คือกระจายความเสี่ยงการลงทุนไปในหลาย ๆ สินทรัพย์ทั้งในและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ตราสารหนี้ หุ้น อสังหาริมทรัพย์ หรือเงินสด โดยกำหนดสัดส่วนไว้ในแต่ละสินทรัพย์ให้เหมาะสม แต่นักลงทุนอาจสงสัยว่า แล้วสินทรัพย์ที่สามารถลงทุนได้จะมีอะไรบ้าง ซึ่งคำตอบมีดังนี้

 

investment return 2007 to 2021

 
1. เงินฝากในธนาคาร
 

ถือเป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องมากที่สุด เพราะเราสามารถนำเงินออกมาใช้ได้ทันที แต่ข้อเสียของการฝากเงินสดในธนาคาร คือ ภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ต่ำ ทำให้มูลค่าเงินสดของนักลงทุนค่อย ๆ ลดลงไป 

 

2. ตราสารหนี้
 

คือ ตราสารที่ออกโดยภาครัฐหรือภาคเอกชน มีวัตถุประสงค์เพื่อระดมทุนสำหรับใช้ในการดำเนินกิจการต่าง ๆ โดยมีผู้ออกอยู่ 2 กลุ่ม ดังนี้

 

2.1 ตราสารหนี้ภาคเอกชน ออกโดยบริษัทเอกชนต่าง ๆ นับว่าเป็นตราสารที่มีความเสี่ยงมากกว่าตราสารหนี้ภาครัฐ เพราะมีโอกาสผิดนัดชำระหนี้ได้ จึงมีการจัดอันดับเครดิต โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ เพื่อให้นักลงทุนเลือกกระจายความเสี่ยงการลงทุนได้อย่างเหมาะสม โดยแบ่งออกได้ดังนี้

 

กลุ่ม Investment Grade (Investment Bond) เป็นกลุ่มที่มี Rating BBB- เป็นต้นไป มีโอกาสผิดนัดชำระหนี้ต่ำจึงทำให้ผลตอบแทนต่ำกว่า
 

กลุ่ม Non-Investment Grade (High Yield Bond) เป็นตราสารหนี้ที่จะให้ผลตอบแทนสูงซึ่งจะมี Rating ตั้งแต่ BB+ ลงมา มีความเสี่ยงที่จะไม่สามารถชำระหนี้ได้สูงขึ้น ซึ่งทำให้ผลตอบแทนจึงสูงขึ้นตามระดับความเสี่ยง

 

กลุ่ม Unrated Bond เป็นกลุ่มที่ไม่มีการจัดอันดับเครดิต เป็นตราสารหนี้ที่ไม่ได้รับการพิจารณาให้จัดอันดับ ซึ่งตราสารหนี้กลุ่มนี้จะจูงใจด้วยผลตอบแทนสูง แต่ก็แลกมาด้วยความเสี่ยงที่สูงเช่นเดียวกัน
 

2.2 ตราสารหนี้ภาครัฐบาล หรือพันธบัตรรัฐบาล จะไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ เนื่องจากภาครัฐมีความน่าเชื่อถืออยู่แล้ว จึงมีโอกาสผิดนัดชำระหนี้น้อยสุด เป็นตราสารที่มีความเสี่ยงต่ำกว่าตราสารหนี้เอกชน ผลตอบแทนก็จะต่ำด้วยเช่นกัน

 

3 .ตราสารทุน


ผู้ถือตราสารทุน หรือ ผู้ถือหุ้น มีฐานะเป็นเจ้าของกิจการ มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมกับบริษัท โดยผู้ถือหุ้นจะได้รับส่วนแบ่งกำไร หรือในรูปแบบเงินปันผล รวมถึงสามารถขายหุ้นเพื่อทำกำไรเมื่อราคาหุ้นของกิจการปรับขึ้นอีกด้วย ตราสารทุนแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ ดังนี้

 

3.1 หุ้นบุริมสิทธิ  เป็นเจ้าของกิจการเช่นเดียวกับผู้ถือหุ้นสามัญ แต่มีสิทธิที่จะได้รับเงินปันผลก่อนผู้ถือหุ้นสามัญในอัตราคงที่ และก็ยังคงมีสิทธิในสินทรัพย์ของกิจการหลังจากเจ้าหนี้ในกรณีที่เลิกกิจการ

 

3.2 หุ้นสามัญ ผู้ถือหุ้นสามัญมีส่วนได้ส่วนเสียในสินทรัพย์ รายได้และกำไร ในฐานะเจ้าของกิจการ แต่จะได้รับสิทธิเป็นอันดับสุดท้าย แต่จะมีสิทธิในการร่วมตัดสินใจในการบริหารผ่านทางการลงคะแนนเสียง หรือมีสิทธิ์ในการซื้อหุ้นเพิ่มทุน เพื่อรักษาสัดส่วนของความเป็นเจ้าของ

 

การลงทุนทางเลือก: สินทรัพย์ที่ไม่ได้มีการลงทุนเหมือนสินทรัพย์ลงทุนทั่วไป เช่น หุ้น ตราสารหนี้ เป็นต้น โดยสินทรัพย์ทางเลือกที่ลงทุนในปัจจุบัน เช่น ทองคำ น้ำมัน อสังหาริมทรัพย์ หุ้นที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาด หรือสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นต้น ซึ่งสินทรัพย์ทางเลือกไม่ได้สัมพันธ์ไปกับทิศทางตลาด ช่วยกระจายความเสี่ยงและสร้างผลตอบแทนทางเลือกให้กับพอร์ต แต่สินทรัพย์ทางเลือกมีการลงทุนเฉพาะตัว นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน
 

 

Novel Investor

Image Source: Novel Investor

 

จากภาพข้างต้นจะเห็นได้ว่า ไม่มีสินทรัพย์ใดที่ให้ผลตอบแทนเป็นบวกได้ตลอดทุกช่วงเวลา แต่ละปีจะมีสินทรัพย์ที่มีผลตอบแทนที่โดดเด่น อย่างเช่น ปี 2021 กลุ่ม REIT (Real Estate Investment Trust) ให้ผลตอบแทนสูงถึง 41.3% แต่ปี 2020 กลุ่ม REIT ให้ผลตอบแทนต่ำสุดอยู่ที่ -5.1% จะเห็นได้ว่าสินทรัพย์ใดที่มีความเสี่ยงสูง ย่อมให้ผลตอบแทนสูงแต่ก็มีโอกาสที่จะได้ผลตอบแทนที่ต่ำมาก เพราะความผันผวนนั่นเอง ดังนั้น เราควรจะกระจายความเสี่ยง โดยการกระจายความเสี่ยงการลงทุนในหลาย ๆ สินทรัพย์ อย่างที่เราเคยได้ยินกันว่า “Don’t put all eggs in one basket” อย่าเอาไข่ทั้งหมดใส่ไว้ในตะกร้าใบเดียว Asset Allocation จึงเป็นเรื่องที่สำคัญต่อนักลงทุนทุกคน ที่จะช่วยจัดพอร์ตการลงทุน พร้อมรับความผันผวน กับทุกสภาวะของตลาด และสร้างผลตอบแทนในระยะยาว

สำหรับใครที่ไม่ได้ปัดฝุ่นพอร์ตลงทุนของตัวเองมานานแล้ว สามารถอัปเดตสถานการณ์ตลาดและการลงทุนประจำเดือนได้ที่รายการ ปรับพอร์ต บนช่อง YouTube ของทาง InnovestX

 

ประโยชน์ของการกระจายการลงทุน

การกระจายความเสี่ยงการลงทุน (Asset Allocation) เป็นการกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ ซึ่งประโยชน์ของการกระจายการลงทุน คือช่วยลดความผันผวนแก่พอร์ตการลงทุน ให้ได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสมตามที่เราต้องการ และสอดคล้องกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ทั้งยังช่วยแบ่งเบาความเสียหายหากเกิดความผันผวนในตลาดนั่นเอง

 

คำเตือน
การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน ผลการดำเนินงานในอดีตมิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต

 

Most Read
1/5
Related Articles
Most Read
1/5