Macro Making Sense 3
PDF Available  
Macro Making Sense

Macro Making Sense – 10 ก.พ. 2568

By ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์|10 Feb 25 7:57 AM
สรุปสาระสำคัญ

สรุปประเด็นตลาดแรงงานสหรัฐชะลอตัว เงินเฟ้อไทยเร่งตัวขึ้นจากปัจจัยฐาน ทรัมป์เพิ่มความเข้มข้นนโยบายปกป้องการค้า ทำเศรษฐกิจเสี่ยงขึ้น

ตลาดแรงงานสหรัฐชะลอตัว แต่ว่างงานลดลง คาด Fed ชะลอการลดดอกเบี้ย  โดยการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน ม.ค. 2025 เพิ่มขึ้น 1.43 แสนตำแหน่ง ต่ำกว่าคาดที่ 1.69 แสนตำแหน่ง ขณะที่อัตราการว่างงานปรับตัวลดลงเล็กน้อยสู่ระดับ 4.0% จาก 4.1% ในเดือนก่อนหน้า ด้านค่าจ้างรายชั่วโมงเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 4.1% ต่อปี ส่วนรายได้เฉลี่ยต่อสัปดาห์เร่งตัวขึ้นที่ 3.8% ส่วนหนึ่งได้แรงหนุนจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำใน 21 รัฐและอีกหลายเมืองเมื่อเดือนที่ผ่านมา ทั้งนี้ การว่างงานที่น้อยลง แม้การจ้างงานจะชะลอลงบ้าง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังทรงตัว และความเสี่ยงสงครามการค้าที่มากขึ้น ทำเราปรับประมาณการการลดดอกเบี้ยเหลือเพียง 1 ครั้ง ในการประชุมวันที่ 17-18 มิ.ย. 


เงินเฟ้อไทยเดือน ม.ค. ขยายตัว 1.32% เร่งตัวขึ้นจากปัจจัยฐาน เงินเฟ้อผู้บริโภคเดือน ม.ค. 2568 อยู่ที่ 100.57 สูงขึ้น 1.32% ต่อปี และเพิ่มขึ้น 0.10% จากเดือน ธ.ค. จากราคาผลไม้สด และน้ำมันเชื้อเพลิง จากฐานต่ำในปีก่อน ขณะที่ปัจจัยกดดันเงินเฟ้อมาจากราคาเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ค่ารักษาพยาบาล และค่าโดยสารสาธารณะ จากมาตรการรถไฟฟ้า-รถเมล์ฟรี  
เรามองว่า เงินเฟ้อไทยในระยะต่อไปจะเพิ่มขึ้น แต่น้อยกว่าคาด โดยเราคงประมาณการเงินเฟ้อปีนี้ที่ 0.9%  จากเศรษฐกิจในประเทศที่ฟื้นตัวต่ำ รวมถึงความเสี่ยงภาคการเงินที่ตึงตัวและการแข่งขันที่สูงขึ้นของผู้ประกอบการและอีคอมเมิร์ซ 

 

เราคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้งในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2568 (สิงหาคมและตุลาคม) จากปัจจุบันที่ 2.25% ลงสู่ระดับ 1.75% ท่ามกลางสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่ชัดเจนขึ้น สะท้อนจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่อ่อนแอ ประกอบกับความตึงตัวทางการเงินที่อยู่ในระดับสูง และความเสี่ยงจากสงครามการค้าที่อาจรุนแรงขึ้น 


ทรัมป์เพิ่มความเข้มข้นนโยบายปกป้องการค้า ทำเศรษฐกิจเสี่ยงขึ้น เรามองว่า นโยบายการค้าของทรัมป์ในสมัยที่สองมีความแตกต่างจากสมัยแรกใน 3 ประเด็นสำคัญ:(1) ความรวดเร็วในการดำเนินการ (2) ขอบเขตที่กว้างขึ้น และ (3) เสียงคัดค้านจากทีมงานที่ลดลง เราจึงประเมินว่า แม้จะไม่สามารถคาดการณ์จังหวะเวลาได้ แต่มีความเป็นไปได้สูงที่จะเห็นการขึ้นภาษีนำเข้าครั้งใหญ่กับหลายประเทศในอนาคต อย่างไรก็ดี การที่ทรัมป์ยอมผ่อนปรนมาตรการกับแคนาดาและเม็กซิโก สะท้อนให้เห็นว่าแรงกดดันทางเศรษฐกิจรวมถึงตลาดหุ้นยังคงมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจ โดยเฉพาะความกังวลเรื่องเงินเฟ้อที่อาจกระทบความนิยมทางการเมือง 


อย่างไรก็ตาม เรามองว่า ความวุ่นวายจากคำขู่สงครามการค้าที่เกิดขึ้น รวมถึงความเสี่ยงว่าจะรุนแรงในอนาคต จะทำให้ธุรกิจไม่มั่นใจในการหาเครือข่ายการผลิตข้ามพรมแดน และอาจส่งผลระยะยาวต่อการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค ซึ่งสถานการณ์เหล่านี้ กำลังเข้าใกล้สมมติฐานของ IMF มากขึ้น ทำให้ เราคงประมาณการเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยุโรป จีน และไทยในปี 2025 ที่ 1.9%, 0.8%, 4.5% และ 2.5% ตามลำดับ ซึ่งต่ำกว่าประมาณการฐานของ IMF อย่างมีนัยสำคัญ ด้านนโยบายการเงิน คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ ยุโรป และไทยจะลดดอกเบี้ย 1 ครั้ง 4 ครั้ง และ 2 ครั้งในปี 2025 ตามลำดับ ซึ่งเป็นการลดที่น้อยกว่าก่อนเกิดสงครามการค้า

Author
Slide3
ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์

หัวหน้านักวิจัยเศรษฐกิจ

Most Read
1/5
Related Articles
Most Read
1/5