
เนื้อหาโดยรวม
💭ปรับวิธีคิด ลงทุนยังไงให้รู้ว่า “ได้” มากกว่า “เสีย”
“การลงทุนที่ดีที่สุดที่คุณทำได้ คือ การลงทุนให้ตัวเอง... ยิ่งคุณเรียนรู้มากเท่าไหร่ คุณก็ยิ่งได้รับมากเท่านั้น” (วอร์เรน บัฟเฟตต์)
ทุกครั้งเมื่อเราพูดถึงคำว่า “ลงทุน” สองคำแรกที่เราจินตนการตามมาติด ๆ คงหนีไม่พ้นคำว่า “กำไร” และ “ขาดทุน” แน่นอนว่าทุกคนอยากได้กำไรจากการลงทุน อย่างไรก็ตามอีกคำที่ไม่ควรมองข้ามไป นั่นคือ “ความเสี่ยง” เราต้องคำนึงถึงความเสี่ยงอยู่เสมอไม่ว่าจะลงทุนในอะไรก็ตามจริงไหม…?
แม้ว่าความเสี่ยงจะเป็นสิ่งที่เราควรให้ความสำคัญในการพิจารณาลงทุน แต่วันนี้เราไม่ได้มาชวนพูดถึงการจัดการความเสี่ยง แต่ขอมาพูดถึงเรื่องการบริหารการขาดทุน ที่หลายคนได้ยินแล้วก็คงส่ายหน้าหนี ไม่อยากได้ยิน หรือ ให้เรื่องนี้เกิดขึ้นกับตนเอง แต่การที่เราจะเป็นนักลงทุนได้อย่างเชี่ยวชาญ เสมือนนักรบที่ผ่านมาหลายสนามรบได้นั้น การมีบาดแผลจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก ดังนั้น การเรียนรู้จากการขาดทุนบ้างก็เป็นเคล็ดลับสำคัญของการประสบความสำเร็จในการลงทุน
เอาล่ะ…เข้าเรื่อง! ลงทุนแล้วขาดทุน ฟังดูแล้วก็ไม่ใช่เรื่องดีนัก เพราะหมายถึงเงินต้นที่ลงทุนไปนั้นสูญหาย แต่คุณเคยตั้งคำถามกับตัวเองไหมว่า ทุกครั้งที่ขาดทุน... คุณมักจะทำอะไรต่อ และจัดการกับมันอย่างไร?
คนส่วนใหญ่เมื่อลงทุนแล้วประสบการขาดทุน ก็มักเกิดอาการวิตกกังวล บางคนถึงขั้นไม่กล้าลงทุนต่ออีกเลย เพราะเกรงว่าหากลงทุนต่ออาจทำให้เงินต้นสูญหายไปมากกว่าเดิม ทว่านี่คือจุดที่อาจจะทำให้คุณเสียโอกาสที่จะได้ผลตอบแทนคืน ครั้งนี้เรามาลองจินตนาการและลองเปลี่ยนวิธีการคิดของคุณในทางกลับกัน แทนที่จะนั่งเสียใจและล้มเลิกการลงทุนไป แต่กลับเลือกเอาเหตุการณ์ในการลงทุนครั้งนั้นมาเป็นบทเรียน เริ่มวิเคราะห์ว่าทำไมสิ่งที่เราลงทุนไปถึงประสบการขาดทุน คราวหน้าเราลองลงทุนในสินทรัพย์อีกประเภทดูดีไหม ปรับกลยุทธ์หรือปรับสัดส่วน ดูจังหวะการลงทุน สิ่งเหล่านี้แน่นอนว่าคุณคงต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม แต่ประสบการณ์ที่ดีที่สุดคือประสบการณ์ที่คุณได้พบเจอและเรียนรู้ด้วยตัวคุณเอง คุณจะจำและเข้าใจมันมากกว่าการเรียนรู้จากคนอื่นเสียอีก
☝🏻อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจมีคำถามในใจว่า เอ... เราไม่ได้มีเงินเหลือเยอะขนาดให้มาลองผิดลองถูกจนกว่าจะรวยหรือป่าว ขอบอกแบบเพื่อนแนะนำเพื่อนเลยว่า การลงทุนไม่จำเป็นจะต้องเริ่มที่เงินหลักหมื่น หรือ หลักแสน หากคุณเป็นนักลงทุนมือใหม่ คุณอาจเริ่มต้นลงทุนที่เกิดจากการเรียนรู้ศึกษา อ่านบทวิเคราะห์การลงทุน จากนั้นลองตัดสินใจลงทุนในกองทุนที่คุณมั่นใจและเข้าใจในระดับหนึ่ง เพื่อดูว่าผลลัพธ์ที่ได้จะเป็นอย่างไร เช่น คุณอาจเริ่มต้นลงทุนด้วยเงินต่อเดือนที่ 500 หรือ 1,000 บาท เพราะบางกองทุนกำหนดขั้นต่ำในการลงทุนขั้นต่ำเพียง 1 บาทเท่านั้น หากเป็นกองทุนที่มีคุณภาพดีหรือลงทุนถูกจังหวะภาวะตลาด ผลกำไรที่ได้อาจเติบโตได้มากกว่าที่คุณหวังไว้ กลายเป็นประสบการณ์ที่ดีจากการลงทุน เหมือนเปิดโลกใหม่ในการสร้างเงินให้งอกเงย
แต่ถ้ากองทุนที่ลงทุนไปดันติดลบทำให้ขาดทุนอีก ถึงอย่างนั้นคุณก็ยังคงได้เรียนรู้อะไรบางอย่างจากประสบการณ์การลงทุนครั้งนี้ แน่นอนว่าอาจติดลบในแง่ของตัวเงิน แต่ได้กำไรในประสบการณ์และการเรียนรู้ที่คุณประเมินค่าไม่ได้เลยทีเดียว