
เนื้อหาโดยรวม
อยากมั่งคั่งด้วยกองทุนรวม แต่ไม่รู้จะเริ่มลงทุนในกองทุนรวมอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ มาปูพื้นฐานด้วย 5 เทคนิคการลงทุนกองทุนรวมให้ตอบโจทย์
บนโลกนี้มีคนเป็นล้านคน การจะตอบโจทย์ความต้องการของทุกคนให้ลงตัวคงฟังดูเป็นเรื่องที่ยาก อย่างไรก็ดี แม้จะมีความซับซ้อนที่ไม่ต่างกัน แต่โลกของการลงทุนกลับสามารถตอบโจทย์ทุกเป้าหมายที่หลากหลายของนักลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยสินทรัพย์ที่เรียกว่า ‘กองทุนรวม’
อย่างไรก็ตาม การลงทุนในกองทุนรวมให้ตอบโจทย์ทุกความต้องการได้อย่างแท้จริง จำเป็นต้องอาศัยความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับกองทุนรวมเช่นกัน ดังนั้น ก่อนที่จะไปเปิดพอร์ตลงทุนกองทุนรวม ลองมาทำความรู้จักกับ 5 เทคนิคสำคัญที่นำมาฝากในวันนี้ เพื่อช่วยให้การเริ่มต้นลงทุนกองทุนรวมเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้นกัน
1. รู้จักประเภทกองทุนรวมให้ครบ
การเติบโตทางธุรกิจจำเป็นต้องอาศัยเงินทุนในการขยายกิจการ แต่นอกเหนือจากการขอสินเชื่อกับสถาบันทางการเงินแล้ว ธุรกิจยังสามารถกำหนดเปิด ‘กองทุนรวม’ เพื่อระดมทุนจากนักลงทุนได้ โดยจะมี ‘ผู้จัดการกองทุน’ คอยดูแลบริหารจัดการเงินและนำเงินไปลงทุนตามนโยบายในหนังสือชี้ชวน ในปัจจุบันนี้ นักลงทุนสามารถลงทุนในกองทุนรวมได้ 8 ประเภทหลัก ซึ่งจะประกอบไปด้วย
1. กองทุนรวมตราสารหนี้ คือ กองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในเงินฝากและตราสารหนี้ ส่วนใหญ่จะมีความเสี่ยงต่ำ ทำให้เหมาะสำหรับนักลงทุนมือใหม่และผู้ที่เน้นการลงทุนระยะยาว โดยนักลงทุนสามารถเลือกลงทุนได้ทั้งกองทุนรวมตราสารหนี้ทั่วไป กองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น และกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะยาว
2. กองทุนรวมตลาดเงิน เป็นการลงทุนในกองทุนรวมที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุด เนื่องจากเป็นกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในเงินฝากและตราสารหนี้ที่มีกำหนดชำระเงินต้นเมื่อทวงถาม หรือ มีอายุคงเหลือไม่ถึง 1 ปี
3. กองทุนรวมตราสารทุน คือ กองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในตราสารทุน หรือ หุ้นประเภทต่าง ๆ ทั้งในไทยและต่างประเทศ มีความผันผวนสูง เหมาะสำหรับผู้ที่รับความเสี่ยงด้านการลงทุนได้สูง
4. กองทุนรวมใบสำคัญแสดงสิทธิ กองทุนรวมเน้นการลงทุนในใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อสินทรัพย์ต่าง ๆ เช่น หุ้นกู้ หุ้นในตลาดหุ้น ไปจนถึงหน่วยลงทุน ถือเป็นการลงทุนกองทุนรวมที่มีความเสี่ยงสูงที่สุด
5. กองทุนรวมหน่วยลงทุน หากอธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ กองทุนรวมประเภทนี้จะเป็นกองทุนรวมที่ลงทุนในกองทุนรวมอีกที เป็นการลงทุนที่มีความหลากหลายสูง มีความเสี่ยงให้เลือกลงทุนได้หลายระดับ
6. กองทุนรวมธุรกิจ กองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้น หรือ ตราสารทุนในธุรกิจหลักประเภทเดียวกัน เลือกลงทุนได้เฉพาะกลุ่มธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งเท่านั้น ทำให้เป็นการลงทุนแบบกระจุกตัวและมีความเสี่ยงที่สูง
7. กองทุนรวมผสม คือ กองทุนรวมที่ลงทุนในหลักทรัพย์ หรือ ทรัพย์สินประเภทต่าง ๆ ซึ่งจะมีการกำหนดสัดส่วนอยู่ที่ 35% - 65% ถือเป็นกองทุนรวมที่มีความเสี่ยงปานกลาง เหมาะสำหรับนักลงทุนมือใหม่ ตลอดจนผู้ที่มีเป้าหมายลงทุนในระยะกลางและยาว
8. กองทุนรวมผสมยืดหยุ่น คือ กองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนเหมือนกับกองทุนรวมผสม แต่จะไม่มีการกำหนดสัดส่วนของการลงทุนในตราสารทุน ถือเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงระดับปานกลาง เหมาะสำหรับนักลงทุนทั้งมือใหม่ หรือ นักลงทุนที่มีประสบการณ์ลงทุน
นอกจากทั้ง 8 ประเภทนี้แล้ว กองทุนรวมยังสามารถจำแนกความแตกต่างตามจุดประสงค์ของการลงทุนได้เช่นกัน เช่น กองทุนรวมเพื่อการเกษียณ (RMF) และกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) ที่มีจุดประสงค์เพื่อการเกษียณอายุและลดหย่อนภาษี ไปจนถึงกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (FIF) ที่เน้นการลงทุนในกองทุนรวมต่างประเทศเพื่อสร้างโอกาสรับผลตอบแทนในขณะที่ตลาดการลงทุนไทยนิ่ง หรือ มีความผันผวนสูงมาก
2. เข้าใจเรื่องสำคัญที่ต้องเช็กก่อนเลือกกองทุนรวม
จะเห็นได้ว่า กองทุนรวมเป็นสินทรัพย์การลงทุนที่มีความหลากหลายสูง ทั้งในแง่ของความเสี่ยงและจำนวนผลิตภัณฑ์ที่สามารถเลือกลงทุนได้ ด้วยความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ในตลาดการลงทุน นักลงทุนจำนวนไม่น้อยต่างสงสัยเหมือนกันว่า ควรจะเลือกลงทุนในกองทุนรวมตัวไหนถึงจะให้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดกันแน่ โดยการจะตอบคำถามในส่วนนี้ นักลงทุนจะต้องตรวจสอบและทำความเข้าใจ 5 เรื่องสำคัญ ดังนี้
1. นโยบายและทรัพย์สินที่ลงทุน
นักลงทุนควรตรวจสอบให้ละเอียดว่า กองทุนรวมที่เราลงทุนด้วยนี้จะนำเงินไปลงทุนกับทรัพย์สินอะไร มีโอกาสเติบโตและความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน และทรัพย์สินที่นำไปลงทุนด้วยมีข้อมูลเฉพาะใดที่ต้องพิจารณาเป็นพิเศษบ้าง เช่น หากลงทุนกองทุนรวมตราสารหนี้ นักลงทุนจะต้องตรวจสอบถึงประเภทตราสารหนี้ และ การจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ร่วมด้วย
2. ระดับความเสี่ยง
การลงทุนกองทุนรวมจะมีการระบุระดับความเสี่ยงอยู่ที่ 1 - 8 ซึ่งบางบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) จะมีการระบุระดับความเสี่ยงเอาไว้ให้นักลงทุนตรวจสอบที่หนังสือชี้ชวน โดยความเสี่ยงระดับ 8 จะเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงที่สุดและจำเป็นต้องอาศัยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการลงทุนสูง ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นกองทุนรวมทางเลือกที่ลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกอย่างทอง หรือ น้ำมัน นอกจากนี้ กองทุนรวมตราสารทุนที่เน้นลงทุนในตลาดต่างประเทศก็มีความเสี่ยงสูงจากอัตราแลกเปลี่ยนและความผันผวนของตลาด เช่นเดียวกับกองทุนรวมตราสารทุนไทยก็มีความเสี่ยงสูงจากความผันผวนของตลาดหุ้นเช่นกัน
3. ผลตอบแทนย้อนหลังของกองทุนรวม
การดูผลตอบแทนย้อนหลังของกองทุนรวม สามารถช่วยประเมินประสิทธิภาพในการสร้างผลตอบแทนที่ผ่านมาและคาดการณ์ถึงอนาคตได้ โดยนักลงทุนสามารถตรวจสอบผลการดำเนินการย้อนหลังได้ 2 วิธี คือ การดูผลตอบแทนย้อนหลัง 5 ปีปฏิทิน หรือ ดูผลตอบแทนย้อนหลังแบบปักหมุดตามช่วงเวลาที่ต้องการ
4. มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ
มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (Net Asset Value : NAV) เป็นมูลค่าที่แท้จริงของกองทุนรวมที่คำนวณจากการนำกำไรมารวมกับมูลค่าทรัพย์สินในตลาด จากนั้นจึงหักลบกลบหนี้สินและค่าใช้จ่ายทั้งหมดออกไป อย่างไรก็ดี สิ่งที่นักลงทุนควรให้ความสนใจ คือ มูลค่าทรัพย์สินสุทธิต่อหน่วย หรือ NAV ต่อหน่วย เพราะจะเป็นค่าที่บอก ‘ความถูกหรือแพง’ ของกองทุนที่สนใจ
อย่างไรก็ดี การมีค่า NAV ต่อหน่วยที่น้อยก็ไม่ได้แปลว่ากองทุนรวมตัวที่สนใจมีราคาถูกเสมอไป แต่อาจเกิดขึ้นจากหลายปัจจัยทั้งจากความสามารถในการบริหารกองทุน ผลประกอบการจากสินทรัพย์ที่นำเงินไปลงทุน จังหวะการซื้อขายของนักลงทุนในตลาด ตลอดจนผลประกอบการธุรกิจ ดังนั้น นักลงทุนจะต้องพิจารณาปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย
ที่สำคัญ ค่า NAV และค่า NAV ต่อหน่วยจะประกาศตอนสิ้นวันเท่านั้น ดังนั้น ขอให้ศึกษาค่า NAV ของแต่ละวัน พร้อมติดตามข่าวสาร เศรษฐกิจ และความเคลื่อนไหวของธุรกิจที่เปิดกองทุนรวมให้ดี
5. ข้อมูลสำคัญใน Fund Fact Sheet หรือ หนังสือชี้ชวน
นอกจากทั้ง 4 ข้อที่ผ่านมาแล้ว นักลงทุนยังควรตรวจสอบข้อมูลสำคัญที่แสดงอยู่ในหนังสือชี้ชวน เช่น ตรวจสอบว่ากลยุทธ์การบริหารกองทุนเป็นแบบรุกที่เน้นสร้างผลตอบแทนสูงกว่าดัชนีชี้วัด หรือ แบบรับที่เน้นสร้างผลตอบแทนเท่ากับดัชนีชี้วัด
นอกจากนี้ นักลงทุนในกองทุนรวมยังควรตรวจสอบถึงอัตราผลขาดทุนสูงสุดในอดีต (Maximum Drawdown) ค่าธรรมเนียม ไปจนถึงอัตราส่วนการหมุนเวียนการลงทุน และ ช่วงเวลาในการฟื้นตัว (Recovering Period) เพื่อพิจารณาถึงกลยุทธ์ ต้นทุนด้านเงินทุนและเวลา ที่สามารถสะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการบริหารงานของผู้จัดการกองทุน
3. อย่าลืมกำหนดเป้าหมายการลงทุนให้ชัดเจน
ด้วยความหลากหลายด้านผลิตภัณฑ์ ความเสี่ยง อีกทั้งยังมีความยืดหยุ่นด้านเงินลงทุนที่สูง ทำให้การวางแผนจัดพอร์ตรวยด้วยกองทุนรวมเป็นความฝันที่ไม่ไกลเกินความจริงมากนัก
ดังนั้น เมื่อเข้าใจถึงรายละเอียดของกองทุนรวมครบทุกด้านแล้ว สิ่งสำคัญที่นักลงทุนควรให้ความสำคัญต่อมา คือ การกำหนดเป้าหมายการลงทุนที่ชัดเจน เพื่อเลือกระดับความเสี่ยงและกองทุนรวมที่เหมาะสมกับแต่ละเป้าหมายให้มากที่สุด
หากยังไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร ขอแนะนำให้กำหนดเป้าหมายตามหลัก SMART ดูก่อน โดยเป้าหมายตามหลัก SMART นั้นจะต้องมีความเฉพาะเจาะจง (Specific) วัดผลได้ (Mesurable) ทำได้จริง (Achievable) อยู่บนหลักความเป็นจริง (Realistic) และ มีกรอบเวลาชัดเจน (Time Bound) โดยแทนที่จะกำหนดเป้าหมายสร้างพอร์ตที่เติบโตจนรวยด้วยกองทุนรวมเพียงอย่างเดียว อาจจะลองใส่คำนวณอัตราเงินเฟ้อ พร้อมใส่รายละเอียดเข้าไปอีกสักนิด
ตัวอย่างเช่น
นาย A ต้องการลงทุนกองทุนรวมเพื่อเก็บเงินซื้อบ้านย่านชานเมืองราคา 7 ล้านบาทในระยะเวลา 15 ปี โดยต้องการเงินดาวน์และตกแต่งบ้านก่อน 4 ล้านบาทในช่วงการลงทุน 8 ปีแรก ส่วนอีก 7 ปีหลังเป็นการลงทุนเพื่อผ่อนบ้าน และมีการรวมอัตราเงินเฟ้อเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ส่วนตัวนาย A อายุ 25 ปี มีรายได้ประจำมั่นคง เงินเดือนเพิ่มขึ้น 10% ทุกปี ไม่มีภาระผูกพันทางครอบครัวหรือหนี้สิน แต่มีค่าใช้จ่ายผูกพันเพียงแค่ประกันสุขภาพ 1 ใบ ทำให้รับความเสี่ยงปานกลางถึงสูงได้ ซึ่งจากรายละเอียดทั้งหมดนี้ทำให้นาย A สามารถสโคปกองทุนรวมสำหรับเป้าหมายนี้ให้แคบลงเหลือเป็นกองทุนรวมตราสารทุน และ กองทุนรวมหน่วยลงทุน
4. เลือกกลยุทธ์การลงทุนให้เหมาะสม
หลังจากที่กำหนดเป้าหมายการลงทุนอย่างละเอียดและสามารถเลือกกองทุนรวมที่เหมาะสมกับความต้องการได้แล้ว นักลงทุนยังควรเลือกกลยุทธ์การลงทุนที่ให้ประสิทธิภาพสูงสุดตามเงื่อนไขและประสบการณ์การลงทุนของตัวเองด้วย เช่น
1. DCA หรือ Dollar-Cost Averaging
กลยุทธ์การลงทุนแบบถัวเฉลี่ยต้นทุน มีการกำหนดเงินลงทุนในแต่ละเดือนที่เท่ากัน โดยจะไม่มีการพิจารณาความผันผวนของกองทุนรวมในระหว่างลงทุน เหมาะสำหรับนักลงทุนมือใหม่ ผู้ที่ต้องการตัดความเสี่ยงทางอารมณ์ออกจากการลงทุน ไปจนถึงผู้ที่ต้องการลงทุนในระยะยาว
2. Lump Sum
กลยุทธ์การลงทุนแบบใช้เงินก้อนใหญ่ก้อนเดียวลงทุนในระยะเวลาที่เหมาะสม เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีที่สุดได้ เหมาะสมสำหรับผู้ที่เข้าใจเรื่อง Market Timing และมีประสบการณ์การลงทุนที่สามารถบริหารพอร์ตตัวเองได้
3. Core - Satellite
กลยุทธ์ที่สามารถเลือกลงทุนกองทุนรวมที่สร้างผลตอบแทนทั้งระยะสั้นและระยะยาวได้ เหมาะสำหรับผู้ที่มีประสบการณ์ด้านการลงทุน โดยกลยุทธ์นี้จะแบ่งพอร์ตออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วน Core จะเป็นพอร์ตสำหรับการลงทุนระยะยาว มีความเสี่ยงปานกลางถึงต่ำ และ ส่วน Satellite จะเป็นพอร์ตการลงทุนตามความสนใจ เหมาะสำหรับการลงทุนระยะสั้นที่มีความเสี่ยงสูง
5. ปรับพอร์ตการลงทุนเป็นประจำ
แม้จะตอบโจทย์การลงทุนได้อย่างหลากหลาย แต่โลกของการลงทุนก็ยังไม่มีกองทุนรวมที่สร้างผลตอบแทนที่ดีในตลอดเวลา ดังนั้น เมื่อมีกองทุนรวมและกลยุทธ์การลงทุนที่เหมาะสมแล้ว อย่าลืมกำหนดเวลาปรับพอร์ตการลงทุนด้วยการทำ Asset Allocation เพื่อกระจายความเสี่ยงและโอกาสในการสร้างผลตอบแทนไปยังกองทุนรวมตัวอื่น ๆ ด้วย
นอกจากนี้ อย่าลืมหมั่นตรวจสอบและสังเกตกองทุนรวมที่เลือกลงทุนไว้ให้เป็นไปตามกลยุทธ์และแผนที่กำหนดไว้ โดยหากเริ่มมีผลตอบแทน หรือ ความเสี่ยงที่ผิดไปจากแผนเมื่อไหร่ อย่าลืมปรับสัดส่วน หรือ ทำ Portfolio Rebalancing เพื่อให้กองทุนรวมสามารถสร้างผลตอบแทนที่ตรงกับเป้าหมายต่อไป
จากรายละเอียดทั้งหมดนี้ หวังว่าจะช่วยให้นักลงทุนหมดสงสัยไปได้ว่าจะซื้อกองทุนยังไงให้รวย อย่างไรก็ดี การจะรวยด้วยกองทุนรวมจากการจัดพอร์ตที่มีประสิทธิภาพยังต้องอาศัยการลงมือทำด้วยเช่นกัน
ดังนั้น เมื่อรู้จักทุกรายละเอียดทั้งหมดนี้แล้ว อย่าลืมมาเริ่มต้นการลงทุนในกองทุนรวมศักยภาพสูงจากทั้งไทยและต่างประเทศกับ InnovestX เพราะถึงแม้การลงทุนจะมีความเสี่ยง แต่การไม่ลงทุนเลยมีความเสี่ยงยิ่งกว่า มาเริ่มลงทุนได้ง่าย ๆ เพียงดาวน์โหลดแอปฯ InnovestX และเปิดบัญชีก็ลงทุนกองทุนรวมเพื่อทุกเป้าหมายได้ทันที
ดาวน์โหลดแอปฯ เสร็จเรียบร้อย หากต้องการเริ่มต้นลงทุนกองทุนรวมได้ง่ายและมีประสิทธิภาพที่สุด มาลงทุนกับ Intelligence Port บริการวางแผนและบริหารพอร์ตการลงทุนอัตโนมัติต่อได้ทันที ตอบโจทย์การลงทุนที่มีประสิทธิภาพด้วยมุมมองจากกูรูตัวจริง พร้อมปรับใช้เทคโนโลยี AI ช่วยวางแผน บริหารพอร์ต และปรับพอร์ตการลงทุนให้สมดุล เพื่อเป้าหมายการลงทุนที่เป็นจริง เริ่มเพียง 5,000 บาท หรือทยอย DCA กับกองทุนรวมต่อได้ด้วยเงินเริ่มต้นเพียง 2,000 บาท/เดือน