ภาพรวมตลาด มิ.ย. – แนวโน้มตลาด ก.ค.
|
||||||
คาด SET ในเดือนก.ค. การฟื้นตัวยังคงถูกจำกัด แม้ว่าตั้งแต่ปลายเดือนพ.ค. และตลอดทั้งเดือนมิ.ย. ดัชนีจะปรับลงมาอย่างต่อเนื่องแล้วก็ตาม เนื่องจากตลาดยังขาดปัจจัยหนุน และมีความไม่แน่นอนในประเด็นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ด้านการเมืองในประเทศ หรือมาตรการกระตุ้นการบริโภคอย่างเงินดิจิทัล 1 หมื่นลบ. รวมถึงการจัดตั้งกองทุนวายุภักษ์ และแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดว่าจะปรับลงในช่วงไหน ขณะที่ทิศทาง fund flow ยังไหลออก ทำให้มองกรอบบนถูกจำกัดที่แนวต้าน 1320 และ 1335 จุด ตามลำดับ ขณะที่ยังมีความเสี่ยงด้าน downside โดยมีกรอบล่างอยู่ที่บริเวณแนวรับ 1280 และ 1260 ตามลำดับ
SET เดือน มิ.ย. ดัชนีลงไปทำจุดต่ำสุดในรอบเกือบ 4 ปี ปัจจัยกดดันหลักมาจากความไม่แน่นอนของการเมืองในประเทศที่ยังยืดเยื้อและไม่ชัดเจน นอกจากนี้ยังมีปัจจัยกดดันจากทิศทางอัตราดอกเบี้ยสหรัฐหลัง Fed ส่งสัญญาณปรับคาดการณ์ลดดอกเบี้ยเหลือเพียงครั้งเดียวในปีนี้ อีกทั้งกระแส Fund Flow ยังคงไหลออกอย่างต่อเนื่องจากปัจจัยลบเฉพาะตัวในหลายหุ้น ส่งผลให้ดัชนีลงไปทำจุดต่ำสุดในรอบ 3 ปี 7 เดือน หรือนับตั้งแต่เดือน พ.ย. 2563 ก่อนจะฟื้นตัวขึ้นในช่วงปลายเดือนด้วยแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นตลาดทุน
SET เดือน มิ.ย. ต่างชาติขายสุทธิต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ที่ 3.5 หมื่นลบ. จากเดือนก่อนหน้าที่ขายสุทธิ 1.7 หมื่นลบ. ขณะที่ภาพรวมกระแส fund flow เดือนนี้ไหลเข้าตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกราว 3.5 พันล้านเหรียญ โดยนักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดหุ้นเกาหลีใต้และไต้หวันราว 3.8 และ 1.3 พันล้านเหรียญตามลำดับ แต่ขายสุทธิในตลาดหุ้นไทย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ราว 0.9, 0.6 และ 0.1 พันล้านเหรียญตามลำดับ
คาดหวังมาตรการกระตุ้นตลาดทุนช่วยผลักดัน SET Index ฟื้นตัวขึ้น แม้ SET Index ยังอยู่ในภาวะผันผวนและเปราะบางจากปัจจัยการเมืองในประเทศยังยืดเยื้อ แต่ก็มีความคาดหวังว่าปัจจัยเชิงเศรษฐกิจ รวมทั้งมาตรการกระตุ้นตลาดทุนจะช่วยหนุนให้ SET ฟื้นตัวขึ้น กลยุทธ์การลงทุนจึงแนะนำ 1) หุ้น Global Play ที่คาดผลประกอบการมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องและได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกมากกว่าเศรษฐกิจภายในประเทศที่ไม่แน่นอน 2) หุ้นที่คาดได้อานิสงส์ Cover Short หลัง ตลท. เริมใช้มาตรการ Uptick ตั้งแต่ 1 ก.ค. 67 3) หุ้นที่คาดได้อานิสงส์บวกจากแผนออกมาตรการกองทุน TESG 4) หุ้นที่สามารถลดความผันผวนและเป็นสินทรัพย์ป้องกันความเสี่ยงจากกรณีความไม่สงบในตะวันออกกลาง
ประเด็นสำคัญในเดือนนี้ในประเทศ : 5 ก.ค. – อัตราเงินเฟ้อ (มิ.ย.) ; 12 ก.ค. - ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (มิ.ย.) ; 26 ก.ค. – ยอดส่งออก นำเข้า ดุลการค้า (มิ.ย.) ต่างประเทศ : 1 ก.ค. - ดัชนี ISM PMI ภาคการผลิต (มิ.ย.) ของสหรัฐ ; 3 ก.ค. – ดัชนี ISM PMI ภาคบริการ (มิ.ย.), การจ้างงานภาคเอกชน (มิ.ย.) ของสหรัฐ ; 5 ก.ค. – การจ้างงานนอกภาคการเกษตร (มิ.ย.) และอัตราว่างงาน (มิ.ย.) ของสหรัฐ ; 11 ก.ค. – อัตราเงินเฟ้อ (มิ.ย.) ของสหรัฐ ; 12 ก.ค. – ดัชนีราคาผู้ผลิต (มิ.ย.) ของสหรัฐ ; 18 ก.ค. - ประชุม ECB ; 20 ก.ค. - ประชุม BoE ; 25 ก.ค. – GDP 2Q67 ของสหรัฐ ; 26 ก.ค. - ดัชนี PCE (มิ.ย.) ของสหรัฐ ; 30-31 ก.ค. – ประชุม Fed |
||||||
ท่านสามารถอ่านและดาวน์โหลดเอกสารได้จาก INVX Databook_July2024_T
|