สรุปประเด็นเรื่องความคาดหวังเงินเฟ้อสหรัฐพุ่ง, Moody's ปรับลดมุมมองสหรัฐ, บทวิเคราะห์โครงการ Digital Wallet |
ความคาดหวังเงินเฟ้อสหรัฐพุ่งสูงสุดในรอบ 12 ปี ความคาดหวังเงินเฟ้อสหรัฐ 1 ปีข้างหน้าเร่งตัวขึ้น ขณะที่ความคาดหวังเงินเฟ้อระยะยาวของผู้บริโภคสหรัฐเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2011 ด้านดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 6 เดือน เราวิเคราะห์ว่า (1) ความเสี่ยงของผู้บริโภคสหรัฐมีมากขึ้นจาก (1.1) สงครามตะวันออกกลางทำให้ความคาดหวังเงินเฟ้อที่สูงขึ้น (1.2) ต้นทุนการกู้ยืมที่สูง และ (1.3) ภาวะตลาดแรงงานที่เริ่มเปราะบาง เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคและแนวโน้มการใช้จ่ายของผู้บริโภคและการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะถัดไป ภาพนี้สอดคล้องกับ (2) ดัชนี Leading Economic Index ของ Conference board ที่ลดลงมาขึ้นในช่วงหลัง และ (3) ภาคการผลิตสหรัฐดูจะมีความเสี่ยงมากขึ้น จากภาคการผลิตสินค้า และภาคบริการ ที่เริ่มชะลอลงตามดัชนี ISM PMI Moody’s ปรับลดมุมมองอันดับเครดิตของสหรัฐจากงบประมาณที่ขาดดุลมากขึ้นและสถานการณ์การเมืองที่ตึงเครียด เรามองว่า (1) ความเสี่ยงการคลังที่สูงขึ้น พร้อมกับมาตรการ QT และดอกเบี้ยที่ยังสูง จะทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐปรับลดลงมากไม่ได้ หากไม่มีความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์รุนแรง (2) ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในสหรัฐจะยิ่งมีมากขึ้น เนื่องจาก (2.1) ประธานสภาฯ ท่านใหม่ (Mike Johnson) มีมุมมองที่ค่อนข้างขวาจัด ขณะที่ยังไม่มีประสบการณ์ในการบริหารความขัดแย้งในสภาผู้แทนฯ (2.3) ต้องจับตาสถาบการณ์ Government Shutdown ว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ โดยล่าสุด มีความพยายามที่จะออก พรบ. งบประมาณชั่วคราวอีกครั้ง โดยอาจเลื่อนไปเป็นวันที่ 7 ธ.ค. และ 19 ม.ค. บทวิเคราะห์โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet และผลต่อเศรษฐกิจไทย เรามองว่า การประกาศรายละเอียดโครงการครั้งนี้มีข้อดีดังนี้ (1) ชัดเจนขึ้น (2) หากโครงการทำได้จริง จะเป็นฐานทางเศรษฐกิจไปสู่มาตรการอื่น ๆ และ (3) วินัยการคลังไม่เสีย อย่างไรก็ตาม เรามองว่าโครงการนี้มีความเสี่ยงดังนี้ (1) ต้องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ โดยเฉพาะในประเด็น “วิกฤต” และ “ความเร่งด่วน” (2) กระบวนการออก พรบ. ปกติใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 414 วัน แต่ Timeline ของรัฐบาลจะให้ออกภายในเดือน พ.ค. จะมีระยะเวลาเพียง 180 วัน เท่านั้น ซึ่งสั้นมาก และ (3) ต้องขึ้นอยู่กับการตีความของ ธ. แห่งประเทศไทยว่า จะผิด มาตรา 9 ของ พรบ. เงินตราหรือไม่ เราจึงพิจารณาความเป็นไปได้ของ พรบ. ดังกล่าวเป็น 3 กรณี คือ (1) ถูกตีตกในชั้น คณะกรรมการกฤษฎีกา (2) สามารถผ่านสภาและตราเป็นกฎหมาย แต่ไม่ทันเดือน พ.ค. และ (3) สามารถทำได้ตามแผนของรัฐบาล ซึ่งในกรณีแรก จะทำให้การเติบโตเศรษฐกิจในปี 2567 ขยายตัวในกรณีเลวร้ายของเรา (3.2%) ขณะที่หากเกิดกรณีสุดท้าย (ทำได้ตามแผน) จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัว 4.1% |