Macro Making Sense 3
PDF Available  
Macro Making Sense

Macro Making Sense – 25 พ.ย. 2567

By ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์|25 Nov 24 7:56 AM
สรุปสาระสำคัญ

สรุปประเด็น PMI สหรัฐพุ่งสูงสุดรอบ 2 ปี แต่ PMI ยุโรปตกต่ำสุดตั้งแต่ต้นปี มาตรการจีนตอบโต้สงครามการค้า และชาติอื่น ๆ ในการตอบโต้จีน 'ทักษิณ' ขึ้นเวที Forbes

  • PMI สหรัฐพุ่งสูงสุดรอบ 2 ปี แต่ PMI ยุโรปตกต่ำสุดตั้งแต่ต้นปี ความเชื่อมั่นภาคธุรกิจสหรัฐฯ พุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 2 ปี ท่ามกลางความคาดหวังเชิงบวกต่อนโยบายของรัฐบาลใหม่ สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อเบื้องต้น (Flash composite PMI) ของ S&P Global ที่เพิ่มขึ้นแตะระดับ 55.3 ในเดือน พ.ย. ด้านเศรษฐกิจยูโรโซนส่อแววถดถอย ท่ามกลางแรงกดดันการค้า-การเมือง โดยความกังวลเกี่ยวกับนโยบายการค้าของสหรัฐฯ และความไม่แน่นอนทางการเมืองในยุโรป ส่งผลให้เศรษฐกิจยูโรโซนเริ่มส่งสัญญาณถดถอย โดย PMI ล่าสุดอยู่ที่ 48.1 เรามองว่า ความเชื่อมั่นของธุรกิจและประชาชนยุโรปอาจจะแย่ลงอีกเมื่อรายละเอียดนโยบายการค้าของสหรัฐฯ เริ่มชัดเจนขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

  • ในส่วนของเศรษฐกิจเยอรมนีกำลังเผชิญภาวะถดถอยต่อเนื่องเป็นปีที่สอง เกิดจาก 4 ปัจจัย: (1) วิกฤตพลังงานจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน (2) การเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์กับจีนที่จากพันธมิตรกลายเป็นคู่แข่ง (3) การขาดแคลนแรงงานจากสังคมสูงวัย และ (4) กฎ "debt brake" ที่จำกัดการขาดดุลงบประมาณไว้ที่ 0.35% ของ GDP ทำให้การลงทุนภาครัฐอยู่ในระดับต่ำ เราวิเคราะห์ว่า เยอรมนีกำลังเข้าสู่การเลือกตั้งในช่วงต้นปี และอาจได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ซึ่งมีแนวคิดที่จะพิจารณาแก้ไขกฎ "debt brake" เพื่อเพิ่มการลงทุนภาครัฐ ซึ่งหากทำได้ (ซึ่งยากในเชิงปฏิบัติ) จะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของเยอรมนีในช่วงต่อไป

  • มาตรการจีนตอบโต้สงครามการค้า และชาติอื่น ๆ ในการตอบโต้จีน เมื่อสหรัฐเตรียมขึ้นภาษีนำเข้าจากจีนเป็น 60% สูงกว่าประเทศอื่นที่จะถูกเก็บที่ 10-20% ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าอาจทำให้การนำเข้าจากจีนอาจดิ่งลงถึง 85% ซึ่งหากมาตรการนี้มีผลบังคับใช้เต็มรูปแบบ จีนอาจจะตอบโต้ด้วยการปล่อยค่าเงินหยวนอ่อนค่า และหันไปสนับสนุนการลงทุนในภาคการผลิตเพิ่มขึ้นเพื่อให้ต้นทุนถูกลงและไปตีตลาดอื่น ๆ ทดแทนสหรัฐ ทำให้ประเทศอื่น ๆ ทำมาตรการกีดกันทางการค้าตอบโต้จีนมากขึ้น ทั้งนี้ เรามองว่า การส่งออกของไทยกำลังจะเผชิญความเสี่ยงสำคัญ 2 ประการคือ การกีดกันทางการค้าที่อาจเพิ่มขึ้นทั่วโลกจากนโยบายของทรัมป์ และการแข่งขันที่รุนแรงจากการทุ่มตลาดของจีน ซึ่งอาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อการส่งออกไทยในอนาคตอันใกล้

  • 'ทักษิณ' ขึ้นเวที Forbes ย้ำแบงก์ชาติ ขวางเศรษฐกิจไทยโต 10 ปี นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ร่วมพูดคุยกับสตีฟ ฟอร์บส์ ประธานและบรรณาธิการบริหาร Forbes Media ในหลายประเด็น
    เรามองว่า หลายประเด็นที่อดีตนายกฯ นำเสนอเป็นประเด็นที่น่าสนใจและหากทำได้จะเกิดประโยชน์ต่อประเทศ แต่อีกหลายประเด็นค่อนข้างท้าทาย โดยเราวิเคราะห์ดังนี้
    1. ประเด็นด้านนโยบายการเงินและสถาบันการเงิน โดยเฉพาะการปรับบทบาทธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นประเด็นที่สำคัญและท้าทาย ทั้งนี้ เรามองว่าการแก้ปัญหาดังกล่าวอาจต้องใช้การมีส่วนร่วม (Buy-in) จากทาง ธปท. โดยเฉพาะประเด็นการแก้ พรบ. ธนาคารแห่งประเทศไทย ในหลายประเด็น รวมถึงเป้าหมายในการดำเนินนโยบายการเงิน
    2. แนวคิด Stable Coin เงินบาท ที่มีพันธบัตรหนุนหลังและสามารถนำไปใช้แลกเปลี่ยนได้นั้น หรือหากเก็บไว้ก็จะได้ดอกเบี้ยนั้น เป็นแนวคิดที่น่าสนใจ แต่อาจต้องพิจารณาว่าขัดกับ พรบ. เงินตราและ พรบ. ระบบการชำระเงินหรือไม่
    3. แนวทางการปฏิรูประบบภาษี โดยการลดอัตราภาษีนิติบุคคลแต่เพิ่มฐานภาษีทั้งบุคคลธรรมดาและธุรกิจ SME รวมถึงการจัดทำระบบ ระบบ Negative Income Tax นั้น น่าสนใจและหากทำได้จริงจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งเศรษฐกิจและการจัดเก็บรายได้ แต่อาจต้องพิจารณาวิธีการในรายละเอียด
    4. การผลักดันแนวนโยบายอุตสาหกรรมและการดึงดูดการย้ายฐานการผลิต มีความเป็นไปได้และน่าสนใจ แต่ไทยมีข้อจำกัดหลายประการรวมถึงต้นทุนพลังงานที่สูง ทำให้ไทยอาจต้องทำการปฏิรูปด้านพลังงานซึ่งท้าทายในประเด็นเชิงการเมือง

 

Author
Slide3
ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์

หัวหน้านักวิจัยเศรษฐกิจ

Most Read
1/5
Related Articles
Most Read
1/5