ภาพรวมตลาด เม.ย. – แนวโน้มตลาด พ.ค. |
คาด SET ในพ.ค. ยังมีกรอบบนจำกัดที่แนวต้าน 1380-1400 จุด และในภาพรวมยังต้องระมัดระวังด้าน downside โดยมีปัจจัยกดดันจาก 1) แนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศที่เติบโตต่ำ 2) ความเสี่ยงด้านนโยบายการเงิน หลังเฟดมีแนวโน้มลดดอกเบี้ยล่าช้า 3) ความเสี่ยงด้านปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ สำหรับการสู้รบในตะวันออกลาง และ 4) ช่วงเวลาขึ้น XD จำนวนมากของบริษัทจดทะเบียน ทำให้ปัจจัยความเสี่ยงต่างๆที่กล่าว สร้างโอกาสให้ในพ.ค. เกิด Sell in May โดยกรอบล่างของ SET อยู่ที่ 1330 และ 1300 จุด ตามลำดับ ทั้งนี้ กรณี SET จะกลับมาเป็นสัญญาณบวก ต้องขึ้นทะลุบริเวณ 1411 จุดก่อน
SET เดือน เม.ย. ลงไปทำจุดต่ำใหม่ในรอบเกือบ 3 ปีครึ่ง โดย SET สร้างเซอร์ไพรส์ตั้งแต่ต้นเดือนด้วยการดีดตัวขึ้นมาแรงเหนือ 1400 จุด หนุนด้วยปัจจัยในประเทศจากความชัดเจนของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต รวมทั้งมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ แต่เมื่อย่างเข้าสู่กลางเดือน ปัจจัยต่างประเทศจากความกังวลสถานการณ์การสู้รบในตะวันออกกลาง รวมทั้ง Fed ที่อาจปรับลดดอกเบี้ยช้ากว่าที่คาดไว้เดิม กดดันให้ SET ร่วงลงอย่างรุนแรงกว่า 80 จุด ดัชนีลงไปทำจุดต่ำสุดที่ 1330 จุด ต่ำสุดนับตั้งแต่ พ.ย. 2563 ก่อนจะฟื้นตัวขึ้นได้ในช่วงปลายเดือน
SET เดือน เม.ย. ต่างชาติสลับมาซื้อสุทธิอีกครั้ง ที่ 3.9 พันลบ. จากเดือนก่อนหน้าที่ขายสุทธิ 4.13 หมื่นลบ. ขณะที่ภาพรวมกระแส fund flow เดือนนี้ไหลออกจากตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกราว 5.1 พันล้านเหรียญ โดยนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นไต้หวัน อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ราว 4.9, 1.2, 0.4, 0.2 และ 0.1 พันล้านเหรียญตามลำดับ แต่ซื้อสุทธิเพียงตลาดหุ้นเกาหลีใต้และไทย ราว 1.7 และ 0.08 พันล้านเหรียญตามลำดับ
ตลาดหุ้นไทยยังอยู่ในภาวะเปราะบาง โดยมอง SET เกิดสัญญาณเชิงลบและเปิด downside risk หลังจากลงมาทำจุดต่ำใหม่ แม้จะฟื้นตัวสลับได้บ้างแต่ยังคงมี upside จำกัด กลยุทธ์การลงทุนจึงแนะนำ 1) หุ้นปลอดภัย (Defensive Stock) ซึ่งพื้นฐานแข็งแกร่ง ผลประกอบการไม่ผันผวนตามภาวะเศรษฐกิจ 2) หุ้นที่คาดผลประกอบการ 1Q67 เติบโต YoY 3) หุ้นที่สามารถลดความผันผวนและเป็นสินทรัพย์ป้องกันความเสี่ยงจากกรณีความไม่สงบในตะวันออกกลาง
ประเด็นสำคัญในเดือนนี้ในประเทศ : 7 พ.ค. – อัตราเงินเฟ้อ (เม.ย.) ; 10 พ.ค. - ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (เม.ย.) ; 15 พ.ค. – GDP 1Q67 ; 30 พ.ค. - ยอดส่งออก-นำเข้า (เม.ย.) ต่างประเทศ : 1 พ.ค. - การประชุม FOMC, ดัชนี ISM PMI ภาคการผลิต (เม.ย.) ของสหรัฐ ; 3 พ.ค. - ดัชนี ISM PMI ภาคบริการ (เม.ย.), การจ้างงานนอกภาคเกษตร, อัตราว่างงาน (เม.ย.) ของสหรัฐ ; 9 พ.ค. – การประชุม BOE ; 14 พ.ค. – ดัชนีราคาผู้ผลิต (เม.ย.) ของสหรัฐ ; 15 พ.ค. – อัตราเงินเฟ้อ (เม.ย.), ยอดค้าปลีก (เม.ย.) ของสหรัฐ ; 23 พ.ค. – รายงานการประชุม FOMC ; 24 พ.ค. – ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน (เม.ย.) ของสหรัฐ ; 30 พ.ค. – GDP 1Q67 (ครั้งที่ 2) ของสหรัฐ ; 31 พ.ค. - ดัชนี PCE (เม.ย.) ของสหรัฐ |
||||||
ท่านสามารถอ่านและดาวน์โหลดเอกสารได้จาก INVX Databook_May2024_T
|