Macro Making Sense

INVX Macro Making Sense – 11 เม.ย. 2567 สรุปประเด็นการประกาศมาตรการ Digital Wallet และการประชุม กนง. ครั้งที่ 2/2567

11 Apr 24 9:00 AM
Slide5956858f7-e843-462a-9f16-507d06ab61bd-20240912053610

สรุปประเด็นการประกาศมาตรการ Digital Wallet และการประชุม กนง. ครั้งที่ 2/2567

ในวันนี้ (10 เม.ย.) นายกฯ แถลงผลประชุมบอร์ดดิจิทัลชุดใหญ่ โดยมีปลัดกระทรวงการคลัง, รมช. คลัง โดยปลัดกระทรวงการคลังเผยถึงที่มาของเงินสำหรับนโยบาย จาก 3 แหล่ง คือ งบประมาณปี 2567 และ 2568 ราว 1.75 และ 1.53 แสนลบ. และเงินจาก ธกส. ราว 1.72 แสนลบ. สำหรับเกษตรกรราว 17 ล้านราย ทั้งนี้ เงินจากงบกลางฯ จะพร้อมสนับสนุนเพื่อให้ครบ 5 แสนลบ.

ด้านเงื่อนไขการใช้มีเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย โดยรมช. คลังเผยว่าการใช้เงินในครั้งแรกโดยประชาชนจะถูกจำกัดให้ใช้จ่ายได้กับร้านค้าขนาดเล็กเท่านั้น โดยกระทรวงพาณิชย์จะกำหนดร้านค้าที่เข้าเงื่อนไขต่อไป ขณะที่เงื่อนไขการแจกเงินและข้อห้ามการใช้เงินยังคงเดิม ส่วนการใช้เงินครั้งที่สองขึ้นไประหว่างร้านค้าจะปลดล็อกการจำกัดพื้นที่

ภายหลังการแถลง รมช. คลังได้ตอบคำถามสื่อถึงขั้นตอนต่อไป โดยจะนำเสนอสู่ที่ประชุมครม. ภายในเดือนเม.ย. นี้ กำหนดการลงทะเบียนร้านค้าและการแจกเงินคงเป็นไปตามเดิมใน 3Q และ 4Q67 และคาดว่าจะมีผลต่อการเติบโต GDP ได้ราว 1.2% - 1.8% จากกรณีฐาน

เรามองว่า (1) มาตรการดังกล่าว หากทำได้จริง จะทำให้ GDP ปี 2567 ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 3.2% จาก 3.0% และปี 2568 จาก 3.0% เป็น 3.5% (2) มาตรการจะทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นจาก 0.8% เป็น 1.0% ในปีนี้ และ 1.5% ในปีหน้า (3) มาตรการดังกล่าว อาจทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว (10 ปี) เพิ่มขึ้น ไปสู่ระดับ 3.0% ในปีหน้า จากปัจจุบันที่ประมาณ 2.7%
คณะกรรมการฯ มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.50 ต่อปี โดย 2 เสียง เห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี

มุมมองของเราต่อประเด็น กนง.
1. เป็นการลงมติไม่เป็นเอกฉันท์และเท่ากับการประชุมครั้งที่แล้ว ขณะที่ในถ้อยแถลงและการแถลงข่าวของ ดร. ปิติ บ่งชี้ว่า กนง. ยังมองว่าเศรษฐกิจจะมีสัญญาณฟื้นตัวขึ้น ทำให้ไม่จำเป็นต้องลดดอกเบี้ยในปัจจุบัน โดยมีรายละเอียดโดยสังเขป ดังนี้
1.1 กนง. มองเศรษฐกิจปีนี้จะขยายตัวสูงขึ้นจากปีก่อน และมีสัญญาณฟื้นตัวขึ้นในครึ่งปีหลัง (จาก 1%->4% ในไตรมาส 4) จากการท่องเที่ยวและการเบิกจ่ายภาครัฐ (29.3% ในไตรมาส 4) ขณะที่เงินเฟ้อมีแนวโน้มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปลายปีนี้ (ปีนี้ 0.6% ปีหน้า 1.3%) และเริ่มมีการพูดถึงนโยบายการเงินโลกมากขึ้น (ดอกเบี้ย Fed และค่าเงินบาทที่ผันผวน)
1.2 กรรมการส่วนใหญ่เห็นว่า อัตราดอกเบี้ยปัจจุบันสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจและการเงินแล้ว และนโยบายการเงินจะช่วยแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างได้อย่างจำกัด
1.3 กนง. ประเมิน GDP ปีนี้ 2.6%YOY และหากคิดแบบ QOQ annualized จะยังอยู่ในเกณฑ์ดี (โต 1%++ ต่อไตรมาส) ส่วนเงินเฟ้อที่ต่ำมาจากปัจจัยพิเศษ กล่าวคือ เป็นผลจากนโยบายรัฐ จึงไม่กังวล
2. เรายังคงมองว่า ในระยะต่อไป ตัวเลขเศรษฐกิจที่จะแย่ลง และเงินเฟ้อที่ติดลบจะทำให้ กนง. จะต้องลดดอกเบี้ยในเดือน มิ.ย. และ ส.ค. ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับดอกเบี้ย Fed ด้วยเช่นกัน

ท่าน สามารถอ่านและดาวน์โหลดเอกสารได้จาก  Macro making sense 240411_T

Most Read
Related Articles
Most Read