Wealth Weekend

Wealth Weekend – มองเวลท์..รายวีค 22/09/2023

22 Sep 23 12:00 PM
Program_Thumbnail-06

สรุปภาพรวมการลงทุนสัปดาห์นี้ ​ 

สัปดาห์นี้ตลาดปรับตัวลงแรงจาก  (1) การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ของสหรัฐที่แม้ว่าจะ (1.1) มีมติคงดอกเบี้ยที่ 5.25-5.50% ตามคาด แต่ส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งในสิ้นปีนี้ (แต่แนวโน้มไม่เอกฉันท์ โดยคณะกรรมการ FOMC 7 ราย จาก 19 ราย ให้คงที่ไปจนถึงสิ้นปี) (1.2) ส่งสัญญาณนโยบายการเงินเข้มงวดโดยปรับการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ย (Dot plot) ในปี 2023 และ 2024 เพิ่มขึ้น 50 bps ในแต่ละปีสู่ 5.1% และ 3.9% จากประมาณการเดิมที่ 4.6% และ 3.4% ตามลำดับ (1.3) ปรับประมาณการการขยายตัว GDP ในปีนี้ที่ 2.1% จาก 1.0% ขณะที่เงินเฟ้อปรับตัวลดลงกว่าที่เคยคาดไว้ (Core PCE จาก 3.9% เป็น 3.7% ในปีนี้) (1.4) ในการแถลงข่าวของประธาน Fed ส่งสัญญาณมุมมองค่อนข้างสมดุล (ไม่ Hawkish ตามการคาดการณ์ของ FOMC) โดยให้น้ำหนักทั้งความเสี่ยงของการเข้มงวดมากเกินไปเมื่อเทียบกับการเข้มงวดน้อยเกินไป นอกจากนี้ยังกล่าวว่าการคาดการณ์ของคณะกรรมการไม่ได้ผูกมัด  แต่ก็ยังยืนยันว่าจะต่อสู้เงินเฟ้อ (2) เงินเฟ้ออังกฤษในเดือนส.ค. ปรับลงแรง โดยขยายตัว 6.7% ต่อปี ต่ำกว่าที่ตลาดคาดไว้ 7.0%  ทำให้ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 5.25% ทำให้นักวิเคราะห์มองว่า การที่ Fed และ BoE คงดอกเบี้ยครั้งนี้ ส่วน ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้าย อาจเริ่มเป็นสัญญาณการคงดอกเบี้ยของธนาคารกลางขนาดใหญ่ทั่วโลก หากเงินเฟ้อไม่ปรับขึ้นอีก (3) สภาคองเกรสสหรัฐกำลังพิจารณาร่างกฎหมายงบประมาณชั่วคราว (Continuing resolution) โดยสภาผู้แทนฯ ซึ่งพรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมากและวุฒิสภาสหรัฐซึ่งพรรคเดโมแครตครองเสียงข้างมาก มีเวลาจนถึงวันที่ 30 ก.ย.นี้ ในการหลีกเลี่ยงไม่ให้มีการปิดหน่วยงานบางส่วนของรัฐบาลสหรัฐหรือชัตดาวน์ครั้งที่ 4 ในรอบ 10 ปี (5) หนี้สาธารณะของสหรัฐเพิ่มสูงขึ้นเกิน 33 ล้านล้านดอลลาร์เป็นประวัติการณ์ครั้งแรก ซึ่งเกิดขึ้นในเวลาไม่ถึง 2 สัปดาห์ก่อนที่รัฐบาลอาจจะต้องปิดหน่วยงานของรัฐบาล เนื่องจากขาดงบประมาณในการดำเนินงาน (6) ผลสำรวจซึ่งจัดทำโดยสมาคมหอการค้าอเมริกัน (AmCham) ในเซี่ยงไฮ้ระบุว่า ปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์และการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้จำนวนบริษัทสหรัฐที่ดำเนินธุรกิจในจีนและมีมุมมองในเชิงบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจจีนในระยะ 5 ปีนั้น ลดลงแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ (7) เงินเฟ้อผู้บริโภคของยูโรโซนในเดือน ส.ค.อยู่ที่ 5.2% ต่อปี ต่ำกว่าที่คาดไว้เล็กน้อยที่ 5.3% แต่ยังคงสูงกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อ 2% ของ ECB

ตลาดหุ้นโลก 

สัปดาห์นี้ตลาดปรับตัวลงแรงจาก  การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ของสหรัฐที่แม้ว่าจะมีมติคงดอกเบี้ยที่ 5.25-5.50% ตามคาด แต่ส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งในสิ้นปีนี้ และยังคงนโยบายการเงินเข้มงวดโดยปรับการคาดการณ์ (Dot plot) ว่าอัตราดอกเบี้ยจะสูงยาวนานขึ้น (Higher for longer) โดยปรับการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยในปี 2023 และ 2024 เพิ่มขึ้น 50 bps ในแต่ละปี ส่งผลให้ผลตอบแทนพันธบัตรสองปีของสหรัฐพุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2006 และขณะที่หุ้นสหรัฐและทั่วโลกตกต่ำลง รวมถึงทำให้ราคาน้ำมันอ่อนตัวลงเล็กน้อย 

ตลาดหุ้นไทย

ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลง โดยนักลงทุนกังวลประเด็นเงินบาทอ่อนค่ารุนแรงและผลตอบแทนพันธบัตรที่ปรับเพิ่มขึ้นจาก (1) กระแสข่าวเปลี่ยนตัวผู้ว่าการฯ ธปท.ที่ไม่เป็นความจริง  (2) ความกังวลว่ารัฐบาลจะต้องออกพันธบัตรมากขึ้นเพื่อชดเชยโครงการ Digital Wallet ขณะที่นายกฯ ร่วมประชุม UN ณ กรุงนิวยอร์ค โดยก่อนการประชุมใหญ่ได้หารือกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ เช่น BlackRock Microsoft-Google ชวนลงทุน ธุรกิจ Clean Energy และ Data Center ในไทย ด้านกกพ. หารือ ปตท.-กฟผ. ลดค่าไฟงวด ก.ย.-ธ.ค. 66 เหลือ 3.99 บาท/หน่วย โดยให้ ปตท. ปรับลดค่าก๊าซเพื่อผลิตไฟฟ้า ขณะที่ กฟผ. ให้รับภาระค่าไฟฟ้าคงค้างกว่า 1 แสนล้านบาทไปก่อน 

ตลาดพันธบัตร

ผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ 10 ปี ปรับเพิ่มขึ้นที่ 4.51% หลังตลาดมองว่า Fed ส่งสัญญาณ Higher for longer ขณะที่ ระยะสั้น 2 ปี เพิ่มขึ้นที่ 5.14% สูงสุดตั้งแต่ปี 2006 ทำให้ส่วนต่างดอกเบี้ย 2-10 ปี ลดลงที่ -0.63 bps​

ผลตอบแทนพันธบัตรไทยอายุ 10 ปี ปรับเพิ่มขึ้นที่ 3.14% จากความกังวลว่ารัฐบาลจะต้องออกพันธบัตรมากขึ้นขณะที่ระยะสั้น อายุ 2 ปี เพิ่มขึ้นที่ 2.54% ขณะที่นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิที่ 1.8 พันล้านบาท

ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์

 

ราคาน้ำมันดิบ Brent ปรับลดลงจากราคาปิดวันศุกร์ที่ 15 ก.ย. ที่ 93.9 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 93.0 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ด้านราคาทองคำ (spot) ปรับลดลงเล็กน้อยที่ 1,938.9 ดอลลาร์ต่อทรอยออนซ์

ตลาดอัตราแลกเปลี่ยน

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ (DXY) แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยที่ 105.6 จุด  จากความเสี่ยงเงินเฟ้อที่กลับมาท่ามกลางราคาน้ำมันแพง ขณะที่ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงที่ 148.0 เยน ด้านค่าเงินยูโรทรงตัวที่ 1.07 ดอลลาร์ต่อยูโร ด้านค่าเงินเอเชีย ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงแรงที่ 36.19 บาท กระแสข่าวเปลี่ยนตัวผู้ว่าการฯ ธปท.ที่ไม่เป็นความจริง ขณะที่เงินหยวนอ่อนค่าลงที่ระดับ 7.31 หยวน 

PDF คลิกอ่านเพิ่มเติม WealthWeekend_230922_T

Most Read
1/5
Related Articles
Most Read
1/5