ข้อมูลสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์ที่ผ่านมา
สรุปภาพรวมการลงทุนสัปดาห์นี้
สัปดาห์นี้ตลาดหุ้นโลกปรับตัวลดลงกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของสงครามการค้า หลังปธน.ทรัมป์ประกาศเดินหน้าเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากแคนาดาและเม็กซิโกในอัตรา 25% และเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้นเป็น 20% มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 4 มี.ค. ส่งผลให้ประเทศคู่ค้าทั้ง 3 ประเทศออกมาตรการตอบโต้ อย่างไรก็ตามล่าสุด ทรัมป์ประกาศว่าจะชะลอเก็บภาษีรถยนต์จากแคนาดาและเม็กซิโกอีกหนึ่งเดือน นอกจากนั้นดัชนี ISM PMI ภาคการผลิตของสหรัฐเดือนก.พ.ชะลอลงต่ำกว่าคาด การจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเพียง 77,000 ตำแหน่งในเดือนก.พ. ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.ค.ปีที่แล้ว ส่งผลให้ตลาดเข้าสู่ภาวะ risk off โดย VIX Index พุ่งขึ้นสูงสุดในรอบปีนี้ ด้าน ECB ปรับลดดอกเบี้ย 25 bps ตามคาด เยอรมนีประกาศเตรียมจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานมูลค่า 5 แสนล้านยูโร ตลาดหุ้นยุโรป STOXX 600 ยังเป็นตลาดที่ปรับขึ้นเด่น YTD ด้านตลาดหุ้น EM ปรับขึ้น 3.1% หลังรัฐบาลจีนประกาศตั้งเป้าหมายการเติบโตของ GDP ปีนี้ที่ 5%, เพิ่มเป้าหมายการขาดดุลงบประมาณเป็น 4% จาก 3%, เตรียมออกพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวพิเศษ มูลค่า 1.3 ล้านล้านหยวน พร้อมให้คำมั่นว่าจะใช้มาตรการสนับสนุนการอุปโภคบริโภคภายในประเทศเพิ่มขึ้น ตลาดหุ้นไทยปรับลดลงปิดต่ำกว่า 1200 จุด ต่ำสุดในรอบเกือบ 5 ปี แรงกดดันจากอุปสงค์ภายในประเทศ และความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ยังเปราะบาง รวมถึงความกังวลจากประเด็นสงครามการค้าที่รุนแรงขึ้น ด้านตลาดน้ำมันอ่อนตัวลงกดดันจากการมติเพิ่มการผลิตของกลุ่ม OPEC เดือนละ + 1.38 แสนบาร์เรลต่อวัน เริ่มตั้งแต่เดือน เม.ย. 2568 เป็นเวลา 18 เดือน
ตลาดหุ้นโลก
ตลาดหุ้นโลกรับแรงกดดันจากการเดินหน้าเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าของสหรัฐจากจีน เม็กซิโก และแคนาดา และการประกาศมาตรการตอบโต้จากทั้ง 3 ประเทศ ตลาดหุ้นสหรัฐปรับลดลง หลัง ISM รายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนก.พ.ชะลอลง และการจ้างงานภาคเอกชนเพิ่มขึ้นต่ำสุด นับตั้งแต่เดือนก.ค.ปีที่แล้ว
ตลาดหุ้นไทย
ตลาดหุ้นไทยยังคงตกต่ำ จาก ปัจจัยด้านความเชื่อมั่นเศรษฐกิจที่ยังต่ำ โดยรมช. คลังมอง SET Index ที่ปรับลงอย่างต่อเนื่องเป็นจังหวะเข้าซื้อ เนื่องจากพื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังไม่เปลี่ยนแปลงและยืนยันตัวเลขเศรษฐกิจไทยเกือบทุกตัวอยู่ในช่วงขาขึ้น อย่างไรก็ตาม กกร. ประเมินเศรษฐกิจเผชิญความเสี่ยงสูงจากสงครามการค้า ขณะที่อุปสงค์ในประเทศยังเปราะบาง
ตลาดพันธบัตร
ผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ 10 ปี ทรงตัวที่ 4.26% ขณะที่ ระยะสั้น 2 ปีลดลงแรงที่ 3.94% ทำให้ส่วนต่างดอกเบี้ย 2-10 ปี อยู่ที่ 32 bps
ผลตอบแทนพันธบัตรไทยอายุ 10 ปี เพิ่มขึ้นที่ 2.22% ขณะที่ระยะสั้น อายุ 2 ปี ลดลงมาอยู่ที่ 1.91% ขณะที่นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิที่ 1,216 ล้านบาท
ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์
ราคาน้ำมันดิบ Brent ปรับลงจากสัปดาห์ก่อนสู่ 69.46 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หลัง OPEC+ เดินหน้าการเพิ่มกำลังการผลิตตามแผนใน เม.ย. นี้ และสหรัฐฯ มีท่าทีผ่อนคลายการคว่ำบาตรรัสเซีย ด้านราคาทองคำ (Spot) ปรับขึ้นสู่ 2,910.99 ดอลลาร์ต่อทรอยออนซ์
ตลาดอัตราแลกเปลี่ยน
ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ (DXY) อ่อนค่าลงแรงที่ 104.2 จุด ขณะที่ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นที่ 148.0 เยน ด้านค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้นที่ 1.04 ดอลลาร์ต่อยูโร ด้านค่าเงินเอเชีย ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นที่ 33.83 บาท ขณะที่เงินหยวนแข็งค่าขึ้นที่ระดับ 7.25 หยวน