flood
PDF Available  
Special Report

กลยุทธ์การลงทุน – ผลกระทบสถานการณ์น้ำท่วมปี 2567 มีความเสี่ยงใกล้ปี 2565 แต่ยังไม่เท่าปี 2554

19 Sep 24 12:27 PM

บทสรุป

  • กลยุทธ์ลงทุน เรามองสถานการณ์น้ำท่วมปัจจุบันไม่รุนแรงเหมือนมหาอุทกภัยในปี 2554 และจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจํากัด แนะเก็งกำไรในหุ้นที่ได้อานิสงส์บวกจากสถานการณ์น้ำท่วมอย่าง HMPRO GLOBAL CPALL BJC DCC และ TASCO อ้างอิงสถิติปี 2553-2566 (เฉพาะปีที่เกิดน้ำท่วมในภาวะ La Nina ดังที่เกิดในปีนี้ ยกเว้นปี 2563 ซึ่งตลาดหุ้นไทยผันผวนสูงจากวิกฤต COVID-19) พบว่าหากซื้อลงทุนช่วงครึ่งหลัง ก.ย. และขายต้น พ.ย. คาดหวังจะได้ผลตอบแทนเฉลี่ยราว 5.0%
  • ปัจจุบันปริมาณน้ำในเขื่อนของไทยอยู่ที่ 68% ต่ำกว่าปี 2554 ที่สูงถึง 83% ทำให้คาดสถานการณ์น้ำท่วมปีนี้จะไม่รุนแรงเหมือนในปี 2554 (มีโอกาสน้อยที่ กทม. จะเกิดน้ำท่วมขังเป็นเดือน) และจะกระทบต่อเศรษฐกิจจํากัด โดยประเมินว่า ทุก 1 เดือนที่สถานการณ์ยืดเยื้อจะส่งผลกระทบต่อ GDP ประมาณ 0.19%
  • ปริมาณน้ำในเขื่อนปัจจุบันใกล้เคียงกับปี 2565 ที่มีพื้นที่น้ำท่วม 12.1 ล้านไร่ สร้างความเสียหายประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท โดยหากพิจารณาจากปริมาณน้ำในเขื่อนในแต่ละภาค พบว่าภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้มีความเสี่ยงสูงกว่าภาคอื่น เนื่องจากปริมาณน้ำในเขื่อนสูงใกล้เคียงปี 2565 อีกทั้งยังต้องเฝ้าระวังกรณีเกิดน้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลันอาจส่งผลกระทบมากในบางพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ท่วมซ้ำซากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง (อาทิ หนองคาย เลย อุบลราชธานี ปทุมธานี อยุธยา นนทบุรี) เนื่องจากมีทำเลที่ตั้งอยู่ติดแม่น้ำ (แม่น้ำโขง แม่น้ำชี แม่น้ำเจ้าพระยา) หรือเป็นที่ราบลุ่มต่ำ ซึ่งอาจมีปัญหาการระบายน้ำลงสู่แม่น้ำ โดยเฉพาะเมื่อมีน้ำทะเลหนุนเกิดขึ้นซึ่งเป็นความเสี่ยงตามฤดูกาล ทั้งนี้ยังต้องติดตามฤดูมรสุมในช่วง 1 เดือนข้างหน้าว่าจะมีพายุพัดผ่านพื้นที่และส่งผลกระทบเพียงใด
  • หากสถานการณ์น้ำท่วมขังเกิดขึ้นช่วงสั้นๆ และไม่ท่วมขังเป็นเวลานานดังเช่นปี 2554 พบว่า บจ. ที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมจะได้รับผลกระทบเชิงลบที่จำกัด ดังนี้
    1)กลุ่มที่ได้รับผลเชิงบวกหลังน้ำลด ได้แก่ กลุ่มที่เกี่ยวกับการซ่อมแซมความเสียหาย ที่จะตามมาหลังน้ำลด ได้แก่ กลุ่มค้าปลีกโดยเฉพาะสินค้าตกแต่งบ้าน (HMPRO GLOBAL) รวมถึงของใช้จำเป็น (CPALL BJC) และกลุ่มวัสดุก่อสร้าง (TASCO DCC) อย่างไรก็ตามระยะสั้นอาจกระทบจาก Traffic ที่ลดลงในช่วงน้ำท่วม
    2)กลุ่มที่ได้รับผลกระทบเชิงลบทางตรงในพื้นที่น้ำท่วม ได้แก่ กลุ่มเกษตร – เนื้อสัตว์ กลุ่มเครื่องดื่ม จากการบริโภคที่ลดลง กลุ่มสินเชื่อ และธนาคาร จากคุณภาพสินทรัพย์อาจถูกกระทบ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมีสัดส่วนน้อย จึงไม่กระทบต่อผลประกอบการอย่างมีนัยสำคัญ
    3)กลุ่มที่ได้รับเชิงลบทางอ้อม ได้แก่ กลุ่มท่องเที่ยวและโรงแรม กลุ่มค้าปลีกน้ำมัน กลุ่มการแพทย์ จากการเดินทางไม่สะดวก อย่างไรก็ตามมองกระทบจำกัดต่อผลประกอบการ
    4)กลุ่มอื่นๆ ที่ต้องติดตาม ได้แก่ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มยานยนต์ และกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม ต้องติดตามสถานการณ์จะทวีความรุนแรงขึ้น และส่งผลกระทบไปยังนิคมฯ ที่อุตสาหกรรมดังกล่าวตั้งอยู่หรือไม่ (ปัจจุบันยังไม่สัญญาณบ่งชี้) ขณะที่นิคมฯ ของบริษัทจดทะเบียนคือ จ.ชลบุรี และ จ.ระยอง จะได้รับผลกระทบจำกัด เนื่องจากมีระบบป้องกันและระบายน้ำที่มีมาตรฐาน ส่วนนิคมฯ ขนาดเล็กในจังหวัดอื่นจะเป็นพื้นที่เสี่ยงมากกว่า อย่างไรก็ตามหากสถานการณ์น้ำไม่แย่เท่ากับปี 2554 คาดว่ากลุ่มนิคมฯ จะไม่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้
Most Read
1/5
Related Articles
Most Read
1/5