สำหรับนักลงทุนที่สนใจลงทุนในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐอเมริกา บทความนี้จะพามาทำความรู้จักทั้ง 4 ดัชนีหลัก ไล่เรียงกันไปเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการลงทุน ติดตามได้เลย
ถ้าหากคุณเป็นคนหนึ่งที่เคยศึกษาเรื่องราวการลงทุนมาบ้าง โดยเฉพาะการลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศ คงจะคุ้นตากับ 4 ดัชนีหลักของตลาดหลักทรัพย์สหรัฐอเมริกาเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็น S&P 500, Dow Jones, NASDAQ Composite, และ Nasdaq 100 อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าคงมีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่ทราบถึงความหมายที่แท้จริงของดัชนีเหล่านี้ บทความนี้จะมาอธิบายถึง 4 ดัชนีหลักให้เข้าใจแบบกระชับแต่ครบถ้วนในสาระ ทั้งความเหมือนและแตกต่างกันของแต่ละดัชนี ที่เมื่ออ่านจบ ทุกคนจะกระจ่างว่าตลาดหุ้นอเมริกามีอะไรบ้าง ติดตามได้เลย
ดัชนีหุ้น S&P 500 หรือ Standard & Poor's 500 คือดัชนีที่แสดงถึงผลการดำเนินงานของบริษัทที่ใหญ่ที่สุด 500 แห่งในสหรัฐอเมริกา เรียกได้ว่าเป็นตัววัดสถานะโดยรวมของตลาดหุ้น และเป็นหนึ่งในเกณฑ์มาตรฐานที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในการตัดสินใจลงทุนในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐอเมริกา
ดัชนี S&P 500 ได้รับการดูแลโดย S&P Dow Jones Indices ซึ่งเป็นแผนกหนึ่งของ S&P Global และอ้างอิงจากมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด ซึ่งเป็นมูลค่ารวมของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วของบริษัท ยิ่งมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดของบริษัทมีขนาดใหญ่เท่าใด ดัชนีก็จะยิ่งมีน้ำหนักมากขึ้นเท่านั้น นั่นจึงหมายความว่า ยิ่งผลการดำเนินงานของบริษัทมีมูลค่ามาก ก็จะส่งผลดีต่อภาพรวมของดัชนี
S&P 500 มักถูกใช้เป็นมาตรฐานในการวัดประสิทธิภาพของหุ้นรายตัวและกองทุนรวม ซึ่งนักลงทุนนิยมใช้เป็นตัววัดประสิทธิภาพของการลงทุนของตนเอง ในขณะที่นักวิเคราะห์ทางการเงินจะใช้ดัชนีเพื่อติดตามสถานะของตลาดหุ้นโดยรวม
บริษัทต่าง ๆ ที่รวมอยู่ในดัชนีหุ้น S&P 500 คือบริษัทที่อยู่ในหลากหลายอุตสาหกรรม ทั้งด้านเทคโนโลยี การดูแลสุขภาพ สินค้าอุปโภคบริโภค พลังงาน และบริการทางการเงิน เช่น Apple, Johnson & Johnson, JPMorgan Chase & Co. , Pfizer Inc., Exxon Mobil Corporation และ Facebook เป็นต้น
ดัชนีหุ้น Dow Jones คือดัชนีตลาดหุ้นที่ติดตามผลการดำเนินงานของบริษัทขนาดใหญ่ที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐอเมริกา 30 แห่ง เป็นหนึ่งในดัชนีที่เก่าแก่ และมีผู้ติดตามมากที่สุดในโลก โดยทำหน้าที่เปรียบเสมือนบารอมิเตอร์ของตลาดหลักทรัพย์สหรัฐอเมริกา
ดัชนีหุ้น Dow Jones ได้รับการตั้งชื่อตามชาร์ลส์ ดาว (Charles Dow) และเอ็ดเวิร์ด โจนส์ (Edward Jones) ผู้ก่อตั้ง Dow Jones & Company ในปี ค.ศ. 1882 ก่อนที่จะเผยแพร่สู่สาธารณชนครั้งแรกในปี ค.ศ. 1896
ดัชนีหุ้น Dow Jones คือดัชนีที่ถ่วงน้ำหนักด้วยราคา หมายความว่าหุ้นที่มีราคาสูงสุดจะมีอิทธิพลต่อการเคลื่อนไหวของดัชนีมากที่สุด ซึ่งแตกต่างจากดัชนีอื่น ๆ เช่น S&P 500 ซึ่งมีการถ่วงน้ำหนักมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาของตลาด
บริษัท 30 แห่งที่รวมอยู่ในดัชนีดาวโจนส์ได้รับการคัดเลือกโดยคณะกรรมการบรรณาธิการของ Wall Street Journal ซึ่งเป็นเจ้าของโดย Dow Jones & Company โดยมีหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกในด้านต่าง ๆ เช่น สินทรัพย์ ชื่อเสียง และความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรม
บริษัทที่รวมอยู่ในดัชนีดาวโจนส์จะประกอบด้วยอุตสาหกรรมต่าง ๆ มากมาย ทั้งในแวดวงเทคโนโลยี สุขภาพ สินค้าอุปโภคบริโภค และบริการทางการเงิน สำหรับบริษัทที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดในดัชนีนี้ ได้แก่ Apple, Boeing, Coca-Cola และ Goldman Sachs
ดัชนีดาวโจนส์มักถูกใช้เป็นมาตรวัดสภาพเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา และการเคลื่อนไหวของดัชนีจะได้รับการจับตามองอย่างใกล้ชิดจากเหล่านักลงทุน นักวิเคราะห์ และผู้กำหนดนโยบายทั่วโลก เมื่อดัชนีดีดตัวขึ้น โดยทั่วไปจะมองว่าเป็นสัญญาณในเชิงบวกสำหรับเศรษฐกิจ แต่ในทางตรงกันข้าม การลดลงของดัชนีก็ย่อมบ่งบอกถึงสภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย
ดัชนีหุ้น Nasdaq Composite คือดัชนีตลาดหุ้นที่ติดตามผลการดำเนินงานของบริษัทที่ซื้อขายสาธารณะมากกว่า 3,000 แห่ง ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ Nasdaq เรียกได้ว่าเป็นดัชนีที่รวมบริษัทจากหลากหลายอุตสาหกรรม ทั้งอุตสาหกรรมเทคโนโลยี การดูแลสุขภาพ สินค้าอุปโภคบริโภค และบริการทางการเงิน
Nasdaq Composite เปิดตัวครั้งแรกในปี ค.ศ. 1971 โดย National Association of Securities Dealers Automated Quotations (Nasdaq) และปัจจุบันดูแลโดย Nasdaq, Inc. สำหรับดัชนีนี้จะเป็นดัชนีที่มีน้ำหนักตามมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด ซึ่งหมายความว่าบริษัทขนาดใหญ่ในดัชนีมีผลกระทบมากกว่าในภาพรวม
ดัชนีหุ้น Nasdaq Composite คือดัชนีที่โดดเด่นด้านการบ่งชี้เกี่ยวกับบริษัทเทคโนโลยี ทำให้ถูกมองว่าเป็นเกณฑ์มาตรฐานสำหรับคาดการณ์และชี้วัดความเป็นไปของเทรนด์อุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้น โดยบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยี เช่น Apple, Amazon, Facebook และ Google ต่างก็รวมอยู่ในดัชนีนี้ทั้งสิ้น
นักลงทุนและนักวิเคราะห์มักใช้ Nasdaq Composite เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ภาพรวมของตลาดหลักทรัพย์สหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะในภาคเทคโนโลยี นอกจากนี้ยังใช้เป็นมาตรฐานสำหรับกองทุนรวมและกองทุนซื้อขายแลกเปลี่ยน (ETFs) ที่ลงทุนในภาคเทคโนโลยี
ดัชนีหุ้น Nasdaq 100 คือดัชนีตลาดหุ้นที่ติดตามผลการดำเนินงานของ 100 บริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุดใน Nasdaq โดยไม่นับรวมบริษัทที่เป็นสถาบันการเงิน โดยดัชนีจะมีน้ำหนักตามมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดเช่นเดียวกันกับดัชนีหุ้น Nasdaq Composite
Nasdaq 100 เปิดตัวครั้งแรกในปี 1985 โดยตลาดหลักทรัพย์ Nasdaq และในปัจจุบันดูแลโดย Nasdaq, Inc. ดัชนีนี้จะรวมบริษัทจากอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น เทคโนโลยี การดูแลสุขภาพ สินค้าอุปโภคบริโภค และโทรคมนาคม เช่นเดียวกับ Nasdaq Composite
เนื่องจากดัชนีหุ้น Nasdaq 100 คือดัชนีที่เป็นที่รู้จักในเรื่องการมุ่งเน้นที่บริษัทเทคโนโลยี ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ Nasdaq 100 เติบโตอย่างแข็งแกร่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากบริษัทเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตาม ดัชนีนี้อาจต้องเจอกับช่วงที่มีความผันผวนได้มากเช่นกัน
ถึงตรงนี้ เชื่อว่าทุกคนน่าจะทราบกันแล้วว่าตลาดหุ้นอเมริกามีอะไรบ้าง และถ้าหากสนใจที่จะลงทุน ซื้อหุ้นต่างประเทศ สามารถศึกษาและซื้อผ่านแอปพลิเคชัน InnovestX ได้เลย สามารถลงทุนหุ้นและสินทรัพย์บริษัทชั้นนำกว่า 10,000 บริษัท มากกว่า 23 ประเทศ 31 ตลาดทั่วโลก ทั้งสหรัฐฯ ฮ่องกง โซนยุโรป เอเชีย และแคนาดา รายละเอียดเพิ่มเติม คลิก
ฟีเจอร์ใหม่ Wealth Idea เพลย์ลิสต์การลงทุนบน InnovestX
รวมไอเดียการลงทุนของทุกสินทรัพย์ไว้บนมือคุณ เมื่อถูกใจก็สามารถ "คลิกลงทุนได้ทันที"
สนใจลงทุนกองทุน ETF ต่างประเทศ ไม่ใช่เรื่องยาก สามารถศึกษาและซื้อผ่านแอปพลิเคชัน InnovestX ได้ ซื้อได้หลากหลายประเภท ทั้งกองทุนรวมต่างประเทศ และหุ้น แถมยังมีโปรโมชันคุ้ม ๆ เพียบ
คำเตือน
*การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน การลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศโดยตรงมีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน