สัปดาห์นี้ตลาดปรับตัวลดลงแรงจากความไม่สงบในตะวันออกกลางที่เริ่มมีสัญญาณลุกลาม หลังอิหร่านโจมตีอิสราเอล ตลาดมองในช่วงต้นว่าเป็นเพียงการตอบโต้เชิงสัญลักษณ์ ทำให้ราคาน้ำมันอ่อนตัวลงในช่วงต้นสัปดาห์ อย่างไรก็ตามการแถลงข่าวเตรียมโต้กลับของอิราเอล ตามมาด้วยเหตุระเบิดในอิหร่านในช่วงเช้าวันศุกร์ ซึ่งระหว่างที่จัดทำรายงานฉบับนี้ยังไม่ยืนยันว่าเป็นการกระทำของหน่วยงานใด ทำให้ราคาน้ำมันดิบ Brent เพิ่มเข้าใกล้ 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลอีกครั้ง มีแรงซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย เช่น ทองคำ และค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น จากความกังวลการยกระดับความรุนแรงขึ้นของสงคราม นอกจากนั้นตลาดหุ้นโลกยังถูกกดดันหลังจาก ประธาน Fed ส่งสัญญาณว่า Fed อาจเลื่อนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยออกไปจากที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ โดยระบุว่า การลดลงของเงินเฟ้อยัง ‘ขาดความคืบหน้าเพิ่มเติม’ (Lack of Additional Progress) โดยอาจต้องใช้เวลามากขึ้น จนกว่าอัตราเงินเฟ้อจะมุ่งไปสู่เป้าหมาย 2% ด้านจีนประกาศตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญคือ GDP 1Q24 ซึ่งขยายตัว 5.3%YoY ดีกว่าคาดแต่ตัวเลขเศรษฐกิจในเดือนมี.ค.ทั้งยอดค้าปลีก, ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม รวมถึงการลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ กลับขยายตัวต่ำกว่าคาด ตลาดหุ้นไทยอ่อนตัวลงในทิศทางเดียวกับตลาดโลกจากแรงกดดันประเด็นสงครามที่รุนแรงขึ้น
สัปดาห์นี้ตลาดปรับตัวลดลงแรงจาก (1)อิหร่านปล่อยโดรนและยิงขีปนาวุธประมาณ 300 ลูกใส่อิสราเอล และ (2) ประธาน Fed ส่งสัญญาณว่า Fed อาจเลื่อนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยออกไปจากที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ ทำให้ราคาน้ำมันขึ้นก่อนตกลง ขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตร ราคาทองคำและดอลลาร์สหรัฐปรับขึ้นอย่างรุนแรง
ตลาดหุ้นไทยอ่อนตวลง จากกังวลสถานการณ์ตะวันออกกลาง และ Fed ที่อาจปรับลดดอกเบี้ยช้า ด้านประเด็นเศรษฐกิจได้แก่ (1) สรท. คาดส่งออกยังเผชิญปัจจัยเสี่ยงจากภายนอก จับตาสงคราม ตอ. กลางกระทบส่งออก 3Q67 แต่ยังคาดส่งออกขยายตัว 1-2% (2) กกร. คาด ศก. ไทยยังมีความเสี่ยงเชิงโครงสร้าง คาดโต 2.8-3.3% ระบุภาครัฐควรกระตุ้นด้วยนโยบายการคลัง-การเงิน ปรับลด ดอกเบี้ยหรือค่าธรรมเนียม FIDF
ผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ 10 ปี ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 4.56% ขณะที่ ระยะสั้น 2 ปี ทรงตัวที่ 4.92% ทำให้ส่วนต่างดอกเบี้ย 2-10 ปี อยู่ที่ -36 bps
ผลตอบแทนพันธบัตรไทยอายุ 10 ปี เพิ่มขึ้นที่ 2.71% ขณะที่ระยะสั้น อายุ 2 ปี ทรงตัวที่ 2.5% ขณะที่นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิที่ 1,532 ล้านบาท
สินค้าโภคภัณฑ์
ราคาน้ำมันดิบ Brent ปรับตัวลดลงจากราคาปิดวันศุกร์ที่ 12 เม.ย. ที่ 90.45 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 89.45 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ด้านราคาทองคำ (spot) ปรับเพิ่มขึ้นที่ 2,424.4 ดอลลาร์ต่อทรอยออนซ์
ตลาดอัตราแลกเปลี่ยน
ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ (DXY) แข็งค่าขึ้นที่ 106.3 จุด ขณะที่ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงที่ 154.11 เยน ด้านค่าเงินยูโรอ่อนลงที่ 1.06 ดอลลาร์ต่อยูโร ด้านค่าเงินเอเชีย ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงที่ 36.88 บาท ขณะที่เงินหยวนทรงตัวที่ระดับ 7.24 หยวน