ข้อมูลสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์ที่ผ่านมา
สัปดาห์นี้หุ้นโลกปรับตัวขึ้นได้เล็กน้อย จากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่ยังแข็งแกร่ง โดย PMI สหรัฐพุ่งสูงสุดรอบ 2 ปีที่ 55.3 ในเดือน พ.ย. รวมถึงความคาดหวังการใช้จ่ายในช่วงเทศกาล Black Friday ที่จะเพิ่มขึ้น ด้านการกีดกันการส่งออกชิปไปจีนมีแนวโน้มผ่อนปรนกว่าข้อเสนอเดิม นอกจากนั้นผลสำเร็จของการเจรจาหยุดยิงชั่วคราวระหว่างอิสราเอลกับเลบานอนยังเป็นอีกเห็นผลที่ช่วยหนุนตลาดได้เช่นกัน กลุ่มเชิงรับปรับตัวขึ้นได้ดีกว่าตลาด เช่น กลุ่มสื่อสาร การแพทย์ สินค้าจำเป็นและกลุ่มสาธารณูปโภคปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.4%-1.7% จากการเปลี่ยนกลุ่มเล่นและกำไรไม่ผันผวน ขณะที่กลุ่มพลังงานและ Materials ปรับตัวลดลง 0.1%-2.3% จากพัฒนาการเชิงบวกของความไม่สงบในตะวันออกกลางดังกล่าวข้างต้น ส่วนกลุ่มเทคโนโลยีปรับลดลง 0.7% ตามแรงขายทำกำไร ดัชนีเงินเฟ้อ Core PCE เดือน ต.ค. ของสหรัฐ เพิ่มขึ้น 2.8% ต่อปี ตามคาด เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่ 2.7% ขณะที่รายงานการประชุม Fed ยังคงสนับสนุนการลดดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในฝั่งของตลาด EM ค่อนข้างทรงตัว แม้มีความคาดหวังมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติมจากจีน แต่กระแสเงินยังไหลออกจากภูมิภาคจากความไม่แน่นอนในประเด็นสงครามการค้าที่กำลังจะเพิ่มสูงขึ้นหลังทรัมป์เริ่มขู่ขึ้นภาษีนำเข้าจากจีน 10% และเม็กซิโก และแคนาดา 25% ทันทีที่เข้ารับตำแหน่ง ตลาดหุ้นไทยยังอยู่ในช่วงพักฐานหลังไม่มีปัจจัยบวกใหม่ ขณะที่มีประเด็นเฉพาะตัว (ส่วนใหญ่เป็นลบ) ของหุ้นในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม ราคาน้ำมันปรับลดลง หลังความไม่สงบในตลาดวันออกกลางดูมีทิศทางเชิงบวกมากขึ้น หลังอิสราเอล และและกลุ่มฮิซบอลเลาห์บรรลุข้อตกลงหยุดยิงชั่วคราว
ตลาดหุ้นโลก
สัปดาห์นี้ตลาดโลกเคลื่อนไหวผันผวน โดยสหรัฐยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นหลังทิศทางเศรษฐกิจยังคงดีต่อเนื่อง โดยGDP สหรัฐไตรมาส 3 ประกาศครั้งที่ 2 ขยายตัวเท่าการประกาศครั้งแรก ผลจากการบริโภคและการลงทุนที่แข็งแกร่ง ขณะที่เงินเฟ้อ PCE และ Core PCE สหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้นตามคาด ด้าน PMI สหรัฐพุ่งสูงสุดรอบ 2 ปี แต่ PMI ยุโรปตกต่ำสุดตั้งแต่ต้นปี
ตลาดหุ้นไทย
ทิศทางตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงจากความกังวลสงครามการค้าที่มากขึ้น และปัจจัยอื่น เช่น (1) ส่งออกไทยขยายตัวดีเกินคาดจากการเร่งส่งออกก่อน Trade war แต่ภาคการผลิตยังคงหดตัวต่อเนื่อง (2) รมว. พลังงานเผยจะประกาศลดค่าไฟฟ้า 3 สตางค์ในงวดเดือนม.ค.-เม.ย. 2568 เหลือ 4.15 บาท/หน่วย (3) ธปท. เผยภาพรวมสินเชื่อธพ. ใน 3Q67 พลิกหดตัว 2% ครั้งแรกในรอบ 14 ปี โดยหดตัวหลักในสินเชื่ออุปโภคบริโภค
ตลาดพันธบัตร
ผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ 10 ปี ปรับลดลงมาอยู่ที่ 4.24% ขณะที่ ระยะสั้น 2 ปีปรับลดลงมาที่ 4.22% ทำให้ส่วนต่างดอกเบี้ย 2-10 ปี อยู่ที่ 2 bps
ผลตอบแทนพันธบัตรไทยอายุ 10 ปี ลดลงที่ 2.35% ขณะที่ระยะสั้น อายุ 2 ปี ลดลงที่ 2.01% ขณะที่นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิที่ 2,225 ล้านบาท
ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์
ราคาน้ำมันดิบ Brent ปรับตัวลงสู่ 72.64 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ตลาดเริ่มคลายกังวลสถานการณ์ในตะวันออกลางหลังอิสราเอลและกลุ่มฮิซบอลเลาห์สามารถบรรลุการเจรจาหยุดยิงได้ ด้านราคาทองคำ (Spot) ลดลงสู่ 2,637.74 ดอลลาร์ต่อทรอยออนซ์
ตลาดอัตราแลกเปลี่ยน
ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ (DXY) อ่อนค่าลงที่ 105.92 จุด ขณะที่ค่าเงินเยนแข็งขึ้นที่ 150.18 เยน ด้านค่าเงินยูโรทรงตัวที่ 1.05 ดอลลาร์ต่อยูโร ด้านค่าเงินเอเชีย ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นที่ 34.29บาท ขณะที่เงินหยวนทรงตัวที่ระดับ 7.24 หยวน