กำไรปกติ 2Q67 อยู่ที่ 1.2 พันลบ. -2% YoY แต่ +22% QoQ เป็นไปตามตลาดคาด ด้วยบรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยที่ซบเซา เราจึงประเมินว่า SSS ใน 3Q67TD ของ BJC จะยังคงหดตัวลงใกล้เคียงกับ 2Q67 ที่ -1.9% YoY เราปรับประมาณการกำไรปี 2567 ของ BJC ลดลง 3% เพื่อสะท้อนยอดขายที่อ่อนแอ YTD เราคาดว่ากำไรปกติ 3Q67 จะเป็นจุดต่ำสุดของปีนี้ โดยกำไรจะอยู่ในระดับที่ค่อนข้างทรง YoY เนื่องจากจากการเติบโตของยอดขายที่ไม่น่าตื่นเต้น รวมถึงอัตราภาษีที่แท้จริงและดอกบี้ยจ่ายที่สูงขึ้น จะหักล้างกับมาร์จิ้นที่ดีขึ้นที่ได้แรงหนุนจากกลุ่ม non-MSC แต่จะลดลง QoQ จากปัจจัยฤดูกาล เราคงคำแนะนำ NEUTRAL สำหรับ BJC โดยปรับราคาเป้าหมายสิ้นปี 2567 อ้างอิงวิธี DCF (WACC 7.1% และการเติบโตระยะยาว 2.5%) ใหม่เป็น 24 บาท (จาก 27 บาท) กำไรสุทธิ 2Q67 อยู่ที่ 1.2 พันลบ. +2% YoY และ +187% QoQ เป็นไปตามตลาดคาด เมื่อหักกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนจำนวน 25 ลบ. ออกไป พบว่ากำไรปกติ 2Q67 อยู่ที่ 1.2 พันลบ. -2% YoY แต่ +22% QoQ กำไรปกติที่ลดลงเล็กน้อย YoY เกิดจากอัตราภาษีที่แท้จริงและดอกเบี้ยจ่ายที่สูงขึ้น ซึ่งไปหักล้างยอดขายที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย EBIT margin ที่กว้างขึ้น และส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมที่ดีขึ้น BJC ประกาศจ่ายเงินปันผลงวด 1H67 ที่ 0.15 บาท/หุ้น (XD วันที่ 27 ส.ค.) ยอดขายใน 2Q67 ยอดขายเติบโต 1% YoY จากยอดขายที่ดีขึ้นในกลุ่ม PSC และกลุ่ม CSC รายได้จากกลุ่มสินค้าและบริการทางการค้าปลีกสมัยใหม่ (MSC) อยู่ในระดับทรงตัว YoY เนื่องจากการขยายสาขาช่วยชดเชย SSS ที่หดตัวลง SSS (ไม่รวมยอดขายกลุ่ม B2B) ลดลง 1.9% YoY (เทียบกับ +4.8% YoY ใน 2Q66 และ +0.1% YoY ใน 1Q67) จากบรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยที่ซบเซา โดยตัวเลขติดลบในเดือนเม.ย. และพ.ค. แต่ตัวเลขเป็นบวกในเดือนมิ.ย. ทั้งนี้จากยอดขายทั้งหมด สัดส่วนยอดขายสินค้าอาหารสดและอาหารแห้งเติบโต YoY แต่สัดส่วนยอดขายสินค้าที่ไม่ใช่อาหารลดลง YoY ใน 2Q67 BJC ได้เปิดไฮเปอร์มาร์เก็ตในประเทศลาว 1 สาขา ฟู้ดเซอร์วิส 1 สาขา ร้านขายยาเพรียว 1 สาขา บิ๊กซี มินิ 5 สาขาในประเทศไทย (หลังจากหักสาขาที่ปิด) และได้มีการปิดบิ๊กซี ซูเปอร์มาร์เก็ต ฮ่องกง จำนวน 7 สาขา รายได้จากกลุ่มสินค้าและบริการทางบรรจุภัณฑ์ (PSC) เติบโต 4% YoY เนื่องจากยอดขายบรรจุภัณฑ์กระป๋องที่ดีขึ้น (+14% YoY) ในประเทศไทยและประเทศเวียดนามจากปริมาณขายเครื่องดื่มน้ำอัดลมและกาแฟที่เพิ่มขึ้นช่วยชดเชยยอดขายบรรจุภัณฑ์แก้วที่ลดลง (-4% YoY) จากปริมาณขายที่ลดลงของหมวดหมู่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รายได้จากกลุ่มสินค้าและบริการทางอุปโภคบริโภค (CSC) เติบโต 2% YoY จากยอดขายกลุ่มธุรกิจอุปโภคที่ดีขึ้น (+2% YoY) จากยอดขายในกลุ่มสินค้าเครื่องใช้ส่วนตัวที่เพิ่มขึ้น รายการอื่นๆ ใน 2Q67 อัตรากำไรขั้นต้น กว้างขึ้น 140bps YoY สู่ 20.3% โดยได้รับการสนับสนุนจากมาร์จิ้นที่ดีขึ้นในกลุ่ม MSC (+90bps YoY) จากการบริหารจัดการด้านโปรโมชั่นและโลจิสติกส์ได้ดีขึ้น และการมีสัดส่วนการขายที่ดีขึ้น โดยสัดส่วนยอดขายสินค้า private label ที่ให้มาร์จิ้นสูงเพิ่มขึ้นสู่ 12.6% (เทียบกับ 12% ใน 2Q66) และสัดส่วนยอดขายกลุ่ม B2B และร้านโดนใจที่ให้มาร์จิ้นต่ำลดลงสู่ 6.8% (เทียบกับ 9.1% ใน 2Q66), กลุ่ม PSC (+420bps YoY) จากต้นทุนก๊าซธรรมชาติ ค่าไฟ โซดาแอซ และอลูมิเนียมที่ลดลง และกลุ่ม CSC (+150ps YoY) จากยอดขายกลุ่มสินค้าเครื่องใช้ส่วนตัวที่ให้มาร์จิ้นสูงที่เพิ่มขึ้น และต้นทุนเยื่อกระดาษที่ลดลง EBIT margin กว้างขึ้น 80bps YoY สู่ 8.3% จากอัตรากำไรขั้นต้นที่เพิ่มขึ้น ซึ่งช่วยชดเชยอัตราส่วนค่าใช้จ่าย SG&A/ยอดขายที่สูงขึ้น (+30bps YoY) จากค่าใช้จ่ายในการขยายสาขาที่สูงขึ้น และรายได้อื่นที่ลดลง (-2% YoY จากรายได้ค่าสาธารณูปโภคที่ลดลงท่ามกลางรายได้ค่าเช่าที่ทรงตัว และอัตราการเช่าพื้นที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 86.8% เทียบกับ 86.3% ใน 2Q66 และ 86.1% ใน 1Q67) ดอกเบี้ยจ่าย เพิ่มขึ้น 11% YoY จากต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น อัตราภาษีที่แท้จริง อยู่ที่ 22% (เทียบกับ 12% ใน 2Q66 และ 27% ใน 1Q67) เนื่องจากโครงสร้างธุรกิจค้าปลีกในปัจจุบันไม่สามารถรับรู้ผลขาดทุนทางภาษียกมาได้ ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุน เพิ่มขึ้นสู่ 18 ลบ. (เทียบกับ -27 ลบ. ใน 2Q66 และ -45 ลบ. ใน 1Q67) โดยกำไรจากธุรกิจบรรจุภัณฑ์ในประเทศมาเลเซียปรับตัวดีขึ้นจากการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการมุ่งเน้นลูกค้าในอุตสาหกรรมอาหารมากขึ้นแทนอุตสาหกรรมเครื่องดื่มก่อนหน้านี้ ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ คือ การเปลี่ยนแปลงในกำลังซื้อ ต้นทุนที่สูงขึ้นจากแรงกดดันเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และนโยบายรัฐบาลใหม่ ปัจจัยเสี่ยง ESG ที่สำคัญ คือ การบริหารจัดการพลังงาน ผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน (E) และแนวปฏิบัติด้านแรงงาน/การจ้างงาน (S) | ||
ท่านสามารถอ่านและดาวน์โหลดเอกสารได้จาก BJC240814_T
|