กำไรสุทธิใน 2Q67 อยู่ที่ 2.4 หมื่นลบ. (+14% YoY และ +28% QoQ) ดีกว่า INVX และ consensus คาด เพราะต้นทุนต่อหน่วยต่ำกว่าคาด กำไรปกติเพิ่มขึ้น 23% QoQ สู่ 2.45 หมื่นลบ. เพราะปริมาณการขายเพิ่มขึ้น (+7% QoQ) ซึ่งเป็นผลมาจากการผลิตเต็มไตรมาสของโครงการ G1/61 (เอราวัณ) ในขณะที่ต้นทุนต่อหน่วยลดลง 2.5% QoQ กำไรสุทธิ 1H67 อยู่ที่ 4.27 หมื่นลบ. เพิ่มขึ้น 5.8% YoY คิดเป็น 52% ของประมาณการกำไรเต็มปีของเรา เรายังคงประมาณการกำไรสุทธิปี 2567 ไว้เหมือนเดิม เนื่องจากคาดว่ากำไรจะลดลงเล็กน้อยใน 3Q67 ในขณะที่ราคาน้ำมันเบรนท์เฉลี่ย YTD ที่ US$84.25/bbl ยังคงสอดคล้องกับสมมติฐานของเรา (US$85/bbl) เรายังคงคำแนะนำ OUTPERFORM สำหรับ PTTEP โดยให้ราคาเป้าหมายอ้างอิงวิธี DCF ที่ 204 บาท (สิ้นปี 2567) อ้างอิงราคาน้ำมันเบรนท์ระยะยาวที่ US$70/bbl ตั้งแต่ปี 2569 เป็นต้นไป นอกจากนี้ PTTEP ยังประกาศจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลที่ 4.50 บาท/หุ้น (XD: 13 ส.ค.) ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามคือผลกระทบของความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่กำลังดำเนินอยู่ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่ออุปทานน้ำมัน ปริมาณการขายเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ผลประกอบการที่แข็งแกร่งใน 2Q67 ได้รับการสนับสนุนจากปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้น (+13.9% YoY และ +7.1% QoQ) สู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 506.7kBOED โดยได้แรงหนุนจากโครงการ G1/61 ในอ่าวไทย (เอราวัณ) แม้ว่ายังต่ำกว่าเป้าที่บริษัทวางไว้ก่อนหน้านี้ที่ 514kBOED ซึ่งเป็นผลมาจากการผลิตที่โครงการในประเทศมาเลเซีย (Sabah K และ SK309) ต่ำกว่าที่วางแผนไว้ ทำให้สัดส่วนผลิตภัณฑ์เหลวลดลงจาก 27% ใน 1Q67 สู่ 26% ใน 2Q67 นอกจากนี้การผลิตที่โครงการอาทิตย์ก็ลดลง QoQ กลับสู่ปริมาณการผลิตต่อวันตามสัญญา (DCQ) ที่ 300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หลังจากโครงการเอราวัณสามารถผลิตได้เต็มกำลัง ราคาขายเฉลี่ยปรับลดลง QoQ จากสัดส่วนผลิตภัณฑ์ก๊าซที่สูงขึ้น ASP ลดลง 0.5% QoQ สู่ US$47.01/BOE เพราะราคาก๊าซลดลงเล็กน้อย (-1.7% QoQ) แต่ได้รับการชดเชยบางส่วนจากราคาผลิตภัณฑ์เหลวที่สูงขึ้น (+2.3% QoQ) ตัวเลขดังกล่าวยังสูงกว่าต้นทุนต่อหน่วยที่ US$28.2/BOE (-2.5% QoQ) ซึ่งดีกว่าที่บริษัทตั้งเป้าไว้อันเป็นผลมาจากการใช้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานน้อยกว่างบที่วางไว้ ดังนั้น EBITDA margin จึงปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 74% ใน 1Q67 สู่ >77% ใน 2Q67 สูงกว่าเป้าของบริษัทที่ 70-75% ผลกระทบจากรายการพิเศษมีน้อยมาก ผลกระทบสุทธิของรายการพิเศษของ PTTEP มีตัวเลขติดลบเพียง US$14 ล้าน (~514 ลบ.) เนื่องจากขาดทุนจากการตัดจำหน่ายสินทรัพย์ของแหล่ง Oliver ในประเทศออสเตรเลีย (US$ 30ล้าน) และขาดทุนเล็กน้อยจากสัญญาป้องกันความเสี่ยงราคาน้ำมัน (US$ 3 ล้าน) ส่วนใหญ่ถูกชดเชยโดยกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนจากเงินบาทที่อ่อนค่า คาดกำไรอ่อนตัวลงใน 3Q67 เราคาดว่ากำไรจะอ่อนตัวลง QoQ ใน 3Q67 ซึ่งเป็นผลมาจากปริมาณการขายและ ASP ที่ลดลง ผู้บริหารกล่าวว่าปริมาณการขายใน 3Q67 จะลดลง 4% QoQ สู่ 484kBOED ซึ่งเป็นตัวเลขที่ปรับลดลงอันเป็นผลมาจากการหยุดซ่อมบำรุงมากขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินงานที่ชะลอตัวลงของโรงแยกก๊าซของ PTT และปริมาณการผลิตที่ลดลงของโครงการในประเทศมาเลเซียตามที่กล่าวถึงข้างต้น ราคาขายก๊าซคาดว่าจะทรงตัวอยู่ที่ US$5.9/mmbtu แม้ว่าจะมีปริมาณการขายจากโครงการภายใต้สัญญา PSC (G1/61 และ G2/61) อย่างไรก็ตาม ราคาผลิตภัณฑ์เหลวอาจอ่อนตัวลงตามราคาน้ำมันดิบที่ลดลง เรายังคงประมาณการกำไรในปี 2567 ไว้เหมือนเดิม โดยอิงกับสมมติฐานปริมาณการขายที่ยึดหลักความระมัดระวังมากขึ้นที่ 490kBOED ราคาเป้าหมายที่ 204 บาท อิงจาก DCF (สิ้นปี 2567) และราคาน้ำมันเบรนท์ระยะยาวที่ US$70/bbl ตั้งแต่ปี 2569 เทียบกับค่าเฉลี่ย 5 ปีที่ US$72 ทั้งนี้สมมติฐานปริมาณขายของเราซึ่งต่ำกว่าเป้าของ PTTEP อยู่ 3% เป็นส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัย (margin of safety) ณ ราคาเป้าหมายของเรา หุ้น PTTEP จะเทรดที่ PBV ปี 2567 ระดับ 1.5 เท่า หรือ +1SD ของ PBV เฉลี่ย 5 ปี สะท้อนถึงมุมมองเชิงบวกต่อผลการดำเนินงานละงบดุลที่แข็งแกร่ง ปัจจัยเสี่ยง: 1) ราคาน้ำมันดิบผันผวน 2) ต้นทุนต่อหน่วยสูงขึ้น 3) การด้อยค่าของสินทรัพย์ และ 4) การเปลี่ยนแปลงกฎหมายเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ปัจจัยเสี่ยงด้าน ESG ที่สำคัญ คือ ผลกระทบของธุรกิจต่อสิ่งแวดล้อม และการปรับตัวในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด |
ท่านสามารถอ่านและดาวน์โหลดเอกสารได้จาก PTTEP240731_T |