SCGP เผยเป้าหมายธุรกิจโดยรวม โดยตั้งเป้าเพิ่ม EBITDA เป็น 3.0-3.3 หมื่นลบ. ในปี 2573 ผ่านทางการมุ่งเน้นไปที่ผลิตภัณฑ์ปลายน้ำที่มีมาร์จิ้นสูงและเติบโตสูง เราคาดว่ากำไรจะฟื้นตัวใน 3Q67 จากปริมาณการผลิตที่กลับมาปรับตัวเพิ่มขึ้นหลังจากวันหยุดยาว รวมถึงรายได้จากการขายในสายธุรกิจเยื่อและกระดาษที่เพิ่มขึ้นจากการกลับมาเดินเครื่องผลิตหลังจากหยุดซ่อมบำรุงใน 2Q67 ราคาหุ้นที่ลดลงมาอยู่ที่ระดับ -2SD ของ PE mean ทำให้ downside มีจำกัด เราแนะนำ OUTPERFORM สำหรับ SCGP โดยให้ราคาเป้าหมายที่ 40 บาท อ้างอิง PE 25.9 เท่า หรือระดับ -1SD ของ PE mean
Sตั้งเป้า EBITDA ที่ 3.0-3.3 หมื่นลบ. ในปี 2573 SCGP ได้จัดประชุมเพื่อเปิดเผยเป้าหมายธุรกิจโดยรวมสำหรับปี 2573 บริษัทตั้งเป้า EBITDA เพิ่มขึ้นที่ CAGR 7.7% มาอยู่ที่ 3.0-3.3 หมื่นลบ. ในปี 2573 จาก 1.78 หมื่นลบ. ในปี 2566 (9.8 พันลบ. ใน 1H67) โดยหลักๆ จะเกิดจากการมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มผลิตภัณฑ์ปลายน้ำที่มีมาร์จิ้นสูง เช่น บรรจุภัณฑ์จากเยื่อและกระดาษ บรรจุภัณฑ์โพลีเมอร์ และบรรจุภัณฑ์อาหาร บริษัทตั้งเป้ารักษาระดับหนี้สินสุทธิต่อ EBITDA ไว้ที่ 2.5-3.0 เท่า ROE สูงกว่า 10% และอัตราการจ่ายเงินปันผลสูงกว่า 40% บริษัทตั้งงบลงทุนสำหรับปี 2568-2573 ไว้ที่ 8.0 หมื่นลบ. โดยหลักๆ แล้วเป็นงบลงทุนเพื่อสนับสนุนการเติบโต: 34% สำหรับการควบรวมกิจการและร่วมมือกับพันธมิตร (M&P) และ 30% สำหรับการขยายกำลังผลิตของบริษัท (organic growth) ในขณะที่งบซ่อมบำรุงคิดเป็นสัดส่วน 22% การประหยัดต้นทุนอยู่ที่ 9% และ ESG อยู่ที่ 5% ของงบลงทุนทั้งหมด
กลยุทธ์พลิกฟื้นธุรกิจในอินโดนีเซีย Fajar Paper หลัง consolidated แล้ว มีกลยุทธ์ระยะสั้น คือ ส่งออกกระดาษบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตในอินโดนีเซียไปยังเวียดนาม (ปัจจุบันส่งออกไปแล้ว 2,000-3,000 ตัน) โดยการผลิตผลิตภัณฑ์ต้นน้ำใกล้เต็มกำลังการผลิตแล้ว เนื่องจากมีความต้องการจากธุรกิจปลายน้ำค่อนข้างมาก ราคากระดาษบรรจุภัณฑ์ที่ส่งไปเวียดนาม สูงกว่าส่งไปจีนประมาณ US$5/ตัน นอกจากนี้ก็กำลังเจรจาทำ M&P ธุรกิจปลายน้ำในอินโดนีเซีย 2-3 ราย ที่จะเพิ่ม integration level จาก 16% เป็น 30% รวมถึงการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตเพื่อลดต้นทุนลงอีก โดยคาดว่าจะถึงจุดคุ้มทุนที่ระดับ EBITDA ภายในสิ้นปีนี้ ทั้งนี้การเข้าซื้อหุ้น Fajar Paper เพิ่มเติม (44.48%) ด้วยมูลค่าการลงทุน US$652.42 ล้าน หรือ 2.3 หมื่นลบ. นั้น แหล่งเงินทุน 8 พันลบ. จะมาจากกระแสเงินสดภายใน และส่วนที่เหลือจะมาจากการออกหุ้นกู้และเงินกู้ยืม ซึ่งคาดว่าจะมีต้นทุนดอกเบี้ยเฉลี่ยที่ 3% คิดเป็นค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยเพิ่มเติม 450 ลบ./ปี เริ่มตั้งแต่เดือนก.ย. 2567
แนวโน้มกำไร 2H67 เราคาดว่ากำไรจะฟื้นตัวใน 2H67 จากปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้นหลังจาก buying season ที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเดือนก.ย. ถึงต.ค. ส่งผลให้ความต้องการบรรจุภัณฑ์โดยรวมเพิ่มขึ้น รวมถึงความต้องการที่สูงขึ้นจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในแต่ละประเทศที่บริษัทมีการดำเนินงาน รวมถึงราคาขายเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่คาดว่าสายธุรกิจเยื่อและกระดาษจะปรับตัวดีขึ้น QoQ จากการกลับมาเดินเครื่องผลิตหลังจากปิดซ่อมบำรุงโรงงานผลิตเยื่อและกระดาษประจำปี (2 สัปดาห์) และไม่มีค่าใช้จ่ายซ่อมบำรุงราว 100 ลบ. เหมือนใน 2Q67 เกิดขึ้นอีก
กลยุทธ์การลงทุนและคำแนะนำ ราคาหุ้น SCGP ปรับตัวลดลง 25.0% YTD มาเทรดที่ระดับ -1.5SD ของ PE mean บ่งชี้ว่าปัจจัยลบสะท้อนในราคาหุ้นไปเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้เรายังพบว่าปริมาณการขายชอร์ตสำหรับ SCGP ลดลงอย่างมาก เรายังคงคำแนะนำ OUTPERFORM สำหรับ SCGP โดยให้ราคาเป้าหมาย 40 บาท อ้างอิง PE 25.9 เท่า หรือ ระดับ -1SD ของ PE mean เราคาดว่าการฟื้นตัวของผลประกอบการในปี 2567 จะช่วยหนุนให้ราคาหุ้น SCGP ปรับตัวเพิ่มขึ้น
ความเสี่ยงที่สำคัญ คือ เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวช้าต่อเนื่อง และความไม่สงบทางภูมิรัฐศาสตร์ทำให้ต้นทุนถ่านหินเพิ่มขึ้น ความเสี่ยงด้าน ESG ที่สำคัญ คือ การบริหารจัดการพลังงาน ผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ยังอยู่ระดับสูง (E) |