เนื้อหาโดยรวม
เราคาดว่ากำไรของ KTC จะเติบโตเพียงเล็กน้อยในปี 2567 ซึ่งเป็นผลมาจากสินเชื่อที่เติบโตในระดับปานกลาง NIM ที่ลดลง และ credit cost ที่สูงขึ้น KTC จะได้รับผลกระทบจากกฎระเบียบใหม่ที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ โดยหลักๆ จะเกิดจากมาตรการแก้หนี้เรื้อรังและการทยอยปรับเพิ่มอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำสำหรับบัตรเครดิต เรายังคงเรทติ้ง UNDERPERFORM สำหรับ KTC และคงราคาเป้าหมายไว้ที่ 44 บาท เนื่องจากมองว่า valuation แพง ปรับประมาณการการเติบโตของสินเชื่อลดลง KTC คาดว่าสินเชื่อจะเติบโต >10% ในปี 2566 (+10% YoY ใน 9M66) แต่ต่ำกว่าเป้าที่บริษัทวางไว้ที่ 15% สำหรับปี 2567 บริษัทตั้งเป้าสินเชื่อเติบโต 10% เราปรับประมาณการการเติบโตของสินเชื่อปี 2566 และปี 2567 ของ KTC ลดลงปีละ 1 ppt สู่ 11% ในปี 2566 และ 10% ในปี 2567 เพื่อสะท้อนเป้าหมายล่าสุดของบริษัท โดยการเติบโตที่พลาดเป้า หลักๆ เกิดจากสินเชื่อจำนำทะเบียน (KTC พี่เบิ้ม) เนื่องจากการรับรู้แบรนด์ในกลุ่มเป้าหมายต่ำ บริษัทคาดว่ายอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตจะเติบโต 12-13% ในปี 2566 (+13.7% ใน 9M66) และตั้งเป้าเติบโต 15% ในปี 2567 บริษัทคาดว่าสินเชื่อส่วนบุคคล (KTC PROUD) จะเติบโตตามเป้าที่ 7% ในปี 2566 (+6.2% YoY ณ 3Q66) และตั้งเป้าเติบโต 5% ในปี 2567 ยอดปล่อยสินเชื่อทะเบียนรถ (KTC พี่เบิ้ม) ใหม่คาดว่าจะอยู่ที่ 2.6-2.7 พันลบ. ณ สิ้นปี 2566 ต่ำกว่าเป้าที่บริษัทวางไว้ที่ 9 พันลบ. ค่อนข้างมาก แต่บริษัทหวังว่าจะเพิ่มขึ้นก้าวกระโดดเป็น 6 พันลบ. ในปี 2567 ได้รับผลกระทบจากมาตรการแก้หนี้เรื้อรัง ในปี FY2567 เราคาดว่า NIM ของ KTC จะได้รับผลกระทบจากความเคลื่อนไหวของ ธปท. เพื่อแก้ปัญหาหนี้เรื้อรัง (PD, ลูกหนี้ที่จ่ายดอกเบี้ยมากกว่าเงินต้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา) สำหรับลูกหนี้ที่มีรายได้น้อย (รายได้ต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท สำหรับนอนแบงก์ และ 20,000 บาท สำหรับธนาคารพาณิชย์รวมถึงนอนแบงก์ภายใต้การกำกับแบบรวมกลุ่มของธนาคารพาณิชย์) โดยตั้งแต่เดือนเม.ย. 2567 ลูกหนี้ที่มีหนี้เรื้อรังจะได้รับทางเลือกในการเปลี่ยนสินเชื่อหมุนเวียนมาเป็นแบบมีระยะเวลา (term loan) และคิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 15% ต่อปี (เทียบกับอัตราเพดาน 25%) โดยจะกำหนดให้การผ่อนชำระสามารถปิดจบภายใน 5 ปี หากลูกค้าที่เข้าเกณฑ์ทุกรายเข้าร่วมมาตรการแก้หนี้เรื้อรัง KTC ประเมินว่าจะส่งผลกระทบต่อรายได้ดอกเบี้ยของบริษัทประมาณ 18 ลบ./เดือน เนื่องจากลูกหนี้ที่เลือกเข้าร่วมเข้ามาตรการแก้หนี้เรือรั้งจะถูกแจ้งต่อเครดิตบูโร ดังนั้นลูกค้าที่เข้าเกณฑ์บางรายอาจจะไม่เข้าร่วมมาตรการดังกล่าว แรงกดดันจากมาตรการแก้หนี้เรื้อรังและต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น ทำให้เราคาดว่า NIM จะลดลง 21 bps ในปี 2567 (เทียบกับ -11 bps ในปี 2566) คุณภาพสินทรัพย์มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากการทยอยปรับเพิ่มอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำสำหรับบัตรเครดิต เราคาดว่า credit cost จะเพิ่มขึ้นในปี 2567 และปี 2568 หลังจากมีการปรับเพิ่มอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำสำหรับบัตรเครดิตจาก 5% ในปี 2566 สู่ 8% ในปี 2567 และ 10% ในปี 2568 credit cost ที่ต่ำผิดปกติในปี 2563-2566 ของ KTC อาจจะเกิดจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้และนโยบายปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดมากขึ้นสำหรับสินเชื่อส่วนบุคคล เราคาดว่า credit cost จะเพิ่มขึ้นจาก 5.5% ในปี 2566 (+43 bps QoQ ใน 4Q66) สู่ 5.75% ในปี 2567 และ 6% ในปี 2568 แนวโน้มกำไร เราคาดว่ากำไร 4Q66 จะลดลง 1% QoQ (รายได้ที่ดีขึ้นจะถูกหักล้างโดย ECL และ opex ที่สูงขึ้น) แต่จะเพิ่มขึ้น 8% YoY (รายได้ดีขึ้น) เราคาดว่ากำไรจะเติบโตเล็กน้อยที่ 5% ในปี 2567 ซึ่งเป็นผลมาจากสินเชื่อที่เติบโต 10% NIM ที่แคบลง และ credit cost ที่สูงขึ้น คงเรทติ้ง UNDERPERFORM เรายังคงเรทติ้ง UNDERPERFORM สำหรับ KTC และคงราคาเป้าหมายไว้ที่ 44 บาท (PBV ปี 2567 ที่ 2.8 เท่า) เนื่องจากเรามองว่า valuation แพง ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ: 1) ความเสี่ยงด้านคุณภาพสินทรัพย์จากการทยอยปรับเพิ่มอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำสำหรับบัตรเครดิตจาก 5% สู่ 8% ในปี 2567 และ 10% ในปี 2568 และเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวไม่ทั่วถึง 2) ความเสี่ยงด้าน NIM จากการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอีก และ 3) มาตรการแก้หนี้ครัวเรือนของ ธปท. | |||
ท่านสามารถอ่านและดาวน์โหลดเอกสารได้จาก KTC231207_T
|