เนื้อหาโดยรวม
ชาวสหรัฐไม่พอใจเศรษฐกิจ, 3 ความเสี่ยงเศรษฐกิจ, เศรษฐกิจไทยน่าเป็นห่วง |
ชาวสหรัฐไม่พอใจกับค่าครองชีพที่สูงมากขึ้น โดยต้องใช้เงิน 119.27 ดอลลาร์เพื่อซื้อสินค้าและบริการแบบเดียวกับที่พวกเขาสามารถจ่ายได้ด้วยเงิน 100 ดอลลาร์เมื่อสี่ปีก่อน แม้จะได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้น แต่ค่าจ้างไม่ได้ขยายตัวทันกับค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เช่น ค่าน้ำมัน ราคารถยนต์ ขณะที่การสำรวจความคิดเห็นของ Harris Poll ของ Bloomberg News ในเดือน ต.ค.-พ.ย. ที่ผ่านมา ระบุว่า คนชนชั้นกลางชาวอเมริกันยังมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจมากกว่าปีที่แล้ว จากการขึ้นดอกเบี้ย โดยมา 57% ของผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็นชนชั้นกลางกล่าวว่าต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้นส่งผลกระทบด้านลบต่อการเงินในครัวเรือน 44% กล่าวว่าตนมีความเครียดเกี่ยวกับเศรษฐกิจ 61% กล่าวว่าสถานการณ์ทางการเงินส่วนบุคคลของพวกเขาแย่ลงหรือไม่เปลี่ยนแปลง และ 33% เท่านั้นที่กล่าวว่าพวกเขาคาดหวังว่าการเงินของตนเองจะดีขึ้น ทั้งนี้ เราวิเคราะห์ว่า ชาวสหรัฐเริ่มรับทราบถึงปัญหา Money Illusion อันเป็นปรากฎการณ์ที่ค่าจ้างและเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นในระดับใกล้เคียงกัน ทำให้ในช่วงแรก ผู้คนจะรู้สึกว่าตนเองมั่งคั่งขึ้น จึงใช้จ่ายมากขึ้น แต่ในระยะต่อไป จะเริ่มรับรู้ว่าข้าวของแพงขึ้นเท่ากับหรือมากกว่ารายได้ ทำให้ใช้จ่ายน้อยลง ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ 3 ประการที่อเมริกาเผชิญในปี 2024 ประการแรก โดยปกติแล้ว การขึ้นของดอกเบี้ยจะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจล่าช้า ดังนั้น การขึ้นดอกเบี้ยตั้งแต่ปี 2022-23 น่าจะส่งผลกระทบรุนแรงขึ้นในปี 2024 ประการที่สอง แม้ว่า Fed จะหยุดขึ้นดอกเบี้ยแล้ว แต่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงจะสูงขึ้นเรื่อยๆ เมื่ออัตราเงินเฟ้อลดลง และ ประการสุดท้าย ตลาดแรงงานเริ่มที่จะได้รับผลกระทบมากขึ้นจากการว่างงานที่กำลังเพิ่มขึ้น ซึ่งภาพดังกล่าวกระทบต่อคะแนนนิยมประธานาธิบดีไบเดน เรามองว่า มีความเป็นไปได้สูงมากขึ้นที่ประธานาธิบดีไบเดนจะแพ้การเลือกตั้งจาก (1) ราคาสินค้าที่อยู่ในระดับสูงยาวนานและไม่น่าจะลดลงได้โดยง่าย (2) ภาระดอกเบี้ยที่ยังจะคงอยู่ในระดับสูง เนื่องจากเงินเฟ้อจะลดลงยากมากขึ้น (3) ตลาดแรงงานที่เริ่มชะลอลงและจะชะลอต่อเนื่อง เศรษฐกิจไทยเดือน ต.ค. ยังเสี่ยง แนวโน้มน่าเป็นห่วง โดยปัจจัยบวกหลักลดลงเมื่อเที่ยบกับเดือนก่อน (ปรับฤดูกาล) ได้แก่ (1) การท่องเที่ยวลดลงตามจำนวนนักท่องเที่ยวรัสเซีย (2) การส่งออกลดลงจากเดือนก่อนในหลายสินค้า (3) การผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลงในหลายหมวด (4) การบริโภคเมื่อขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับเพิ่มขึ้นจากมาตรการลดค่าครองชีพ (5) การลงทุนเพิ่มขึ้นหลังหดตัวในเดือนก่อน (6) รายจ่ายรัฐบาลหดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนจากรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางเป็นสำคัญ และ (7) ด้านดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในปัจจุบันและอนาคตปรับลดลงในแทบทุกองค์ประกอบทั้งภาคการผลิตและภาคบริการ |
ท่าน สามารถอ่านและดาวน์โหลดเอกสารได้จาก Macro making sense 231204_T |